เก็บตกจากสัมมนาลงทุนสไตล์สนุก! ปี 2 – อยากลงทุนต้องทำอย่างไร

ตอนนี้นิก็ยังเป็นการเก็บตกจากสัมมนาลงทุนสไตล์สนุก! ปี 2 มาฝากกันค่ะ ทิ้งท้ายกันไปเมื่อวานว่า การลงทุนจะเป็นเครื่องมือที่จะพาเราไปถึงเป้าหมายทางการเงินที่เราตั้งใจไว้

(อ่านย้อนหลังได้ที่ https://nipapuntalk.wordpress.com/2015/09/12/)

ใน part ของการลงทุนนั้น เมื่อเราวางแผนการเงินของเราเป็นอย่างดีและมีการจัดสรรเงินตามเป้าหมายการเงิน ก็ถึงเวลาที่จะต้องนำเงินที่จัดสรรไว้สำหรับการลงทุน มาทำการลงทุนกันค่ะ

ถ้าเราเป็นมือใหม่ในการลงทุน เราจะมีช่องทางการลงทุนในอะไรได้บ้าง

ง่ายสุดๆ ก็เริ่มจากกองทุนรวมค่ะ ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับใครที่มีรายได้ และต้องเสียภาษี กองทุนรวมที่แนะนำคือ กองทุนรวม LTF และ RMF ซึ่งจะทำให้เราได้สิทธิประโยชน์หลายต่อเลยทีเดียว

ถัดมาก็เป็นการลงทุนในหุ้น พื้นฐานง่ายๆ หากยังไม่รู้ว่าจะเลือกหุ้นยังไง การลงทุนผ่านกองทุนรวมดัชนี เช่น กองทุนรวม SET50 เป็นต้น ก็เป็นทางเลือกที่ดี เพราะผู้จัดการกองทุนก็จะนำเงินของเราไปลงทุนในหุ้นที่มีมูลค่าตลาดสูงสุด 50 อันดับแรกให้เราค่ะ ระหว่างนั้นเราก็ต้องฝึกปรือฝีมือ เรียนรู้เรื่องการลงทุนไปเรื่อยๆ ห้ามหยุดเรียนรู้เป็นอันขาด

เมื่อเรียนรู้แล้ว ก็ต้องลงสนาม เราจะไม่มีทางเก่งเรื่องการลงทุนขึ้นมาได้เลย หากเราเป็นเพียงผู้ชมที่นั่งอยู่ข้างสนาม เราจะเก่งขึ้นก็ต่อเมื่อเราไปเป็นผู้เล่นในสนามค่ะ และแน่นอนการลงทุนมีความเสี่ยง เราสามารถจำกัดความเสี่ยงจากการลงทุนได้โดย

จำกัดความเสี่ยงจากการลงทุน

1. การวางแผนการเงิน ซึ่งย้ำแล้วย้ำอีกว่าการวางแผนการเงินนั้นสำคัญมาก อ่านย้อนหลังได้ที่ https://nipapuntalk.wordpress.com/2015/09/12/

2. การทำ asset allocation หรือการกระจายลงทุนไปยังสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ว่าง่ายๆ คือการไม่ใส่ไข่ไว้ในตระกร้าเดียวนั่นเอง สินทรัพย์การลงทุน เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น เหตุผลที่เราต้องกระจายการลงทุน คือเป็นการกระจายความเสี่ยงนั่นเอง เพราะไม่มีสินทรัพย์ใด สินทรัพย์หนึ่งที่จะชนะตลาดตลอดไป และก็ไม่มีสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งที่จะแพ้ตลาดตลอดไปด้วยเช่นกัน

3. การทำ Dollar Cost Average, DCA หรือการทยอยลงทุนเท่าๆ กันทุกเดือน วิธีนี้จะทำให้เรามีระเบียบวินัยในการลงทุน และที่สำคัญจะขจัดอารมณ์ในการลงทุน ซึ่งอารมณ์ในการลงทุนจะมีอยู่ 2 อารมณ์ คือ ความกลัวกับความโลภค่ะ

4. มีวินัย ปฏิบัติตามแผนการลงทุน และมีการทบทวนการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ

นอกจากการลงทุนผ่านกองทุนรวม และลงทุนในหุ้นแล้ว คุณผู้อ่านท่านใดที่บริษัทมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Providend fund เราก็ควรจะออมเงินและลงทุนผ่าน Providend fund ของเราอย่างเหมาะสมด้วย เช่น หากเราอายุยังน้อย ก็ควรจะเลือกลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงในสัดส่วนที่สูงขึ้นมาหน่อยนะคะ เนื่องจากหากเรามีระยะเวลาการลงทุนที่นาน เราก็จะสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงในสัดส่วนที่สูงขึ้นได้ค่ะ

สำหรับการลงทุนในหุ้นนั้น นิคิดว่าหากเราอยากจะลงทุนให้สนุกและมีความสุข คุณต้องหาสไตล์การลงทุนของคุณให้เจอ ซึ่งกว่าจะรู้ว่าสไตล์การลงทุนของเราเป็นยังไง ต้องเกิดจากการที่คุณต้องลงสนามอยู่ดีค่ะ ลองผิดลองถูก ลงทุนและเรียนรู้ไปเรื่อยๆ และในที่สุด คุณก็จะหาแนวทางการลงทุนของคุณเองได้

สไตล์การลงทุน เช่น การลงทุนในหุ้นปันผล การลงทุนในหุ้นเติบโต การลงทุนในหุ้น Big Cap (หุ้นที่มีมูลค่าตลาดสูง) และการเก็งกำไร เป็นต้น ซึ่งแต่ละแบบก็จะมีการลงทุนที่แตกต่างกัน ขอยกตัวอย่างจากประสบการณ์การลงทุนของนิเองให้ฟังแล้วกันนะคะ

นิเริ่มลงทุนครั้งแรกผ่านกองทุนรวมหุ้นที่จ่ายเงินปันผลค่ะ นิเป็นคนชอบเงินปันผลมาก เพราะนิมีเป้าหมาย ไม่อยากเกษียณอายุ ด้วยการเป็นมนุษย์เงินเดือนหรืออีกนัยหนึ่งก็มีเป้าหมาย อยากมีอิสรภาพทางการเงินซึ่งนิคิดว่าก็น่าจะเป็นเป้าหมายลึกๆ ในใจของใครหลายๆ คนด้วยเช่นกัน

ในการที่จะมีอิสรภาพทางการเงินได้นั้น นิต้องมีรายได้จากสินทรัพย์ (Passive Income) มากกว่าค่าใช้จ่าย เมื่อไหร่มี่นิมีรายได้จากสินทรัพย์มากกว่าค่าใช้จ่าย เมื่อนั้นนิจะมีอิสรภาพทางการเงินค่ะ

รายได้จากสินทรัพย์ เช่น ค่าเช่า เงินปันผล เป็นต้น ตอนที่เริ่มทำงานใหม่ ๆ เราคิดว่าการจะมีอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าสักห้องนึงเนี่ย ใช้เงินที่ค่อนข้างสูง และต้องไปกู้เงินแบงค์อีกต่างหาก เราก็เลยคิดว่ามันยาก นิก็เลยไปเริ่มต้นจากการลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งใช้เงินแค่หลักร้อย หลักพันก็ลงทุนได้แล้ว

เมื่อลงทุนในกองทุนรวมได้สักพัก ก็สามารถสะสมเงินก้อนได้ ก็เริ่มอยากจะลงทุนในหุ้น ตอนแรกๆ ที่ความรู้ยังไม่เยอะ ยังอ่านงบการเงินไม่เป็น ก็เลยเลือกหุ้น Big Cap ไปก่อน เพราะคิดว่า หุ้นกลุ่มนี้ไม่น่าจะเจ๊งง่ายๆ และเราก็รู้จักกิจการของหุ้นที่เราไปลงทุนเป็นอย่างดี (ช่วงแรกเลือกหุ้นตัวใหญ่แบบไม่ได้ดูงบการเงินเลยนะคะ)

หลังจากนั้นเราก็มาเรียนรู้ หัดอ่านงบการเงิน วิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน อ่านรายงานประจำปี แล้วเราก็ค่อยๆ เลือกหุ้นที่จ่ายปันผลดีๆ ออกมา ช่วงหลังก็เลยเปลี่ยนเป็นเน้นการลงทุนในหุ้นปันผล เฉพาะแค่หุ้น 4 ตัวแรกเท่านั้นที่นิลงทุนแบบไม่ดูงบการเงิน หลังจากนั้นจะลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่งนั้นต้องผ่านการวิเคราะห์มาอย่างดีแล้วเท่านั้นค่ะ เคยลองเป็นแนว trading คือซื้อๆ ขายๆ ไม่ไหวค่ะ ไม่เป็นอันทำมาหากินอะไรเลย คอยแต่จะจ้องหน้าจอ เครียดและไม่สนุกเลย เราก็เลยเลิก trading ค่ะ มาลงทุนในแนวทางที่เราชอบและมีความสุขดีกว่า

เอาล่ะค่ะ เก็บตกจากสัมมนามาฝาก พอหอมปากหอมคอนะคะ หากใครอยากฟังของจริง สามารถรับชมสัมมนาย้อนหลังได้ที่  www.set.or.th/digitalinvestor  แต่เมื่อกี้นิลอง click เข้าไปดูยังไม่มี clip งานวันนี้มาลงนะคะ อาจจะต้องใช้เวลานิดหน่อยกว่าทางตลาดจะ upload clip ขึ้นไปที่ website ยังไงถ้าสนใจก็ลองติดตามได้ค่ะ

สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการวางแผนการเงินกับนิได้ที่ nipapuntalk@hotmail.com ค่ะ หรือ ที่ Official Line Account: @nipapuntalk (อย่าลืม เติม @ ไว้ข้างหน้า nipapuntalk ด้วยค่ะ) แล้วพบกันในตอนต่อไปค่ะ และหากคิดว่าเป็นประโยชน์ช่วยแชร์ด้วยนะคร้า ขอบคุณมากค่ะ ^^

เก็บตก สัมมนาลงทุนสไตล์สนุก! ปี 2 ตอนที่ 1

ตอนนี้นิมีเก็บตกจากสัมมนาลงทุนสไตล์สนุก! ปี 2 ที่นิไปเป็นวิทยากรในวันนี้ (เหตุที่ได้รับเชิญไปเป็นวิทยากร ก็เนื่องมาจากนิเขียนบทความให้กับ Sanook Money นั่นเองค่ะ เขียนมาตั้งแต่ต้นปีแล้วค่ะ ซึ่งนิกำลังจะทยอยเอาบทความจาก Sanook Money มารวบรวมไว้ที่ www.nipapuntalk.com   ติดตามอ่านได้ค่ะ)

สัมมนานี้แบ่งเป็น 2 ช่วงค่ะ ช่วงแรก หัวข้อ ลงทุนสไตล์สนุกทะลุจอกับนักเขียน เซียนวางแผนการเงิน จัดพอร์ตลงทุน โดยนิและพี่ลูกหมู (ซึ่งเขียนบทความให้ Sanook Money ทั้งคู่ค่ะ) มีน้องกระแต จาก Money Channel เป็นผู้ดำเนินรายการ

ขณะที่ช่วงที่ 2 หัวข้อ ลงทุนออนไลน์สนุก สไตล์มนุษย์เงินเดือน กับ iSalaryman โดยคุณสมเกียรติ สุขเสรีกุล

11947842_1126403647389044_9072554969969486635_o

ประเด็นการพูดคุยในช่วงแรก เราได้พูดถึงเรื่องการวางแผนการเงินสำคัญอย่างไร จะเริ่มวางแผนการเงินเมื่อไหร่ อย่างไร ซึ่งถ้าทุกท่านได้ติดตาม Fanpage ของนิมาโดยตลอด จะพบว่านิให้ความสำคัญกับการวางแผนการเงินก่อนเรื่องอื่นๆ เลยค่ะ เพราะการวางแผนการเงิน ก็คือการวางแผนชีวิต ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกเป้าหมายของชีวิตเราต้องใช้เงินค่ะ เราจึงต้องวางแผนการเงินให้ตอบโจทย์เป้าหมายที่เราตั้งใจไว้

จุดเริ่มต้นของการวางแผนการเงิน เริ่มต้นจากสมการเงินออมค่ะ

รายได้ = ค่าใช้จ่าย + เงินออม

หากวันนี้เราไม่มีเงินออมหรือเงินเก็บเลย เราไม่สามารถไปไหนต่อได้เลย (ไปต่อในที่นี้เช่น เอาเงินไปลงทุน เป็นต้น) ดังนั้นเราจึงต้องหาทางเพิ่มรายได้ ควบคุมค่าใช้จ่าย และทำให้เงินออมงอกเงยค่ะ ในขั้นต้นนี้ต้องอาศัยระเบียบวินัย และความมุ่งมั่นที่ออมเงินให้ได้อย่างแรงกล้าเลยทีเดียวค่ะ

ดังนั้นแผนการเงินแรกของทุกคน คือแผนรายรับ รายจ่าย และแผนบริหารสภาพคล่อง เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะมีเงินออม และสำรองเผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินค่ะ ซึ่งใน step นี้เราจะเรียกว่า Wealth Creation หรือขั้นตอนของการสร้างความมั่งคั่ง

แผนการเงินถัดมา คือแผนบริหารความเสี่ยง ผ่านการวางแผนประกันภัย เพราะเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ หรือเจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆ จะเป็นตัวการทำลายเงินออมค่ะ นิได้ยกตัวอย่างเคสที่เกิดขึ้นกับตัวนิเองนั่นก็คือ เมื่อคืน 31 ธ.ค. 2553 ต่อเนื่องถึงวันที่ 1 ม.ค.ปี 2554  ขณะที่หลายๆ คนกำลังฉลองคืนข้ามปีอย่างสนุกสนาน คืนนั้นนิกลับต้องฉลองปีใหม่ที่ รพ. ด้วยอาการปวดท้อง และค้นพบว่าเป็นนิ่วที่ถุงน้ำดี ต้องทำการผ่าตัดถุงน้ำดีออกไป นิเข้า admit ที่ รพ. 3 ดาว เป็นเวลา 3 วัน 2 คืนราวกับซื้อ package ทัวร์ไปเที่ยวยังไง ยังงั้น ให้ทายว่า ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดครั้งนั้นเป็นเงินเท่าไหร่…..

คำตอบคือ 120,000 บาท (คิดดูนะคะแพงยิ่งกว่า package tour อีก เพราะ ณ วันนี้มีเพื่อนชวนไปเที่ยวญี่ปุ่น 6 วัน 5 คืนในราคา 77,000 บาทเองค่ะ) ดังนั้นคุณจะเห็นว่า เมื่อเราเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องเข้ารักษาตัวใน รพ. นั้น เราไม่สามารถต่อรองค่าใช้จ่ายได้เลยค่ะ ดังนั้นการวางแผนประกันภัย จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะถ้าหากวันนั้น นิไม่ได้มีประกันชีวิตที่มากพอ คุณคิดว่าใครต้องเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายนั้น คำตอบก็คือตัวเรานั่นเองค่ะ แทนที่เราจะได้นำเงินออมนั้นไปลงทุนตอบโจทย์เป้าหมายทางการเงินต่างๆ เรากลับต้องเอามาจ่ายค่ายา ค่าหมอ นี่แหละค่ะ นิจึงบอกว่า เหตุการณ์มาคาดฝันจะเป็นตัวการทำลายเงินออมค่ะ ซึ่ง step นี้เราจะเรียกว่า Wealth Protection หรือ การปกป้องความมั่งคั่งค่ะ

จากนั้นเราก็จะมาต่อด้วยการวางแผนภาษี เพราะหน้าที่ของพลเมืองดีทุกคนคือการเสียภาษี การวางแผนภาษีไม่ได้หมายความว่าให้หนีภาษีนะคะแต่เป็นการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่รัฐท่านอนุญาต เช่นสำหรับมนุษย์เงินเดือน ก็คือการใช้สิทธลดหย่อนต่างๆ เช่น ประกันชีวิต LTF และ RMF เป็นต้น การที่เรามีการวางแผนภาษีที่ดีจะทำให้เราสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายทางภาษีเป็นเงินออมได้

ซึ่งนิก็ให้เทคนิคไปว่า เมื่อเราลงทุนหากได้เงินปันผลมา เราก็ควรจะนำเงินปันผลมาลงทุนต่อ หรือที่เรียกว่าการ Re-invest ไม่ควรเอาเงินปันผลไปใช้ นอกจากนี้ภาษีที่เราประหยัดได้จากการใช้สิทธิลดหย่อนต่างๆ เราก็ควรนำกลับมาลงทุนต่อด้วยค่ะ ให้เงินได้ทำงานแทนเราอย่างขยันขันแข็ง จะทำให้เราสามารถไปถึงเป้าหมายทางการเงินที่เราตั้งใจว่าได้รวดเร็วยิ่งขึ้นนะคะ

ถัดมาก็จะเป็นการวางแผนการลงทุน ซึ่งในการเริ่มลงทุน คุณก็ต้องมีเป้าหมายการลงทุนค่ะ ว่าเราจะลงทุนไปเพื่ออะไร นิขอเชิญชวนให้ทุกคนลงทุนเพื่อการเกษียณอายุที่มั่งคั่ง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า sooner or later หรือจะช้าจะเร็ว เราทุกคนก็ต้องเกษียณอายุ และเมื่อถึงวันเกษียณอายุ เมื่อนั้นเราจะไม่มีรายได้จากการทำงานอีกต่อไป แต่รายจ่ายของเรายังคงวิ่งตลอดเวลา ถ้าวันนี้เราไม่เริ่มวางแผนเกษียณอายุ รับรองได้ว่าแก่ไป มีเงินไม่พอใช้แน่ๆ

การลงทุนจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะพาเราไปถึงเป้าหมายเกษียณอายุอย่างมั่งคั่งอย่างที่เราตั้งใจไว้ (เพราะอย่างที่เรารู้ๆ กัน การฝากเงินแต่ในธนาคารเพียงอย่างเดียว ไม่ตอบโจทย์เลยค่ะ) แต่การลงทุน แม้ว่าในระยะยาวจะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ดี แต่มันก็ตามมากับความเสี่ยงด้วยค่ะ ความเสี่ยงจากการลงทุน อย่างเลวร้ายสุดๆ คือคุณอาจจะสูญเสียเงินต้น ซึ่งถ้าเราไม่มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องการลงทุน และสิ่งที่เราลงทุนเลย โอกาสจะล้มเหลวมีสูงมากกว่าโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการลงทุนนะคะ ดังนั้นเราจึงต้องมาเรียนรู้เรื่องการลงทุนกันค่ะ

สงสัยนิคงต้องมาเล่าต่อตอนหน้าแล้วล่ะค่ะ ว่าเรามีการพูดคุยเรื่องการลงทุนอย่างไร ต้องติดตามค่ะ ^^

อ้อ นอกจากนี้ สามารถรับชมสัมมนาย้อนหลังได้ที่  www.set.or.th/digitalinvestor  แต่เมื่อกี้นิลอง click เข้าไปดูยังไม่มี clip งานวันนี้มาลงนะคะ อาจจะต้องใช้เวลานิดหน่อยกว่าทางตลาดจะ upload clip ขึ้นไปที่ website ยังไงถ้าสนใจก็ลองติดตามได้ค่ะ

สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการวางแผนการเงินกับนิได้ที่ nipapuntalk@hotmail.com ค่ะ หรือ ที่ Official Line Account: @nipapuntalk (อย่าลืม เติม @ ไว้ข้างหน้า nipapuntalk ด้วยค่ะ) แล้วพบกันในตอนต่อไปค่ะ และหากคิดว่าเป็นประโยชน์ช่วยแชร์ด้วยนะคร้า ขอบคุณมากค่ะ ^^

ด่วน! รับสมัครผู้ช่วยนักวางแผนการเงิน

จากตอนที่แล้วที่นิได้เล่าถึงนักวางแผนการเงิน CFP® ว่าคือใครและมีความสำคัณอย่างไร และทิ้งท้ายว่าต้องการรับผู้ช่วยนักวางแผนการเงิน 2 ตำแหน่ง

(อ่านย้อนหลังนักวางแผนการเงิน CFP® คือใคร ได้ที่ https://nipapuntalk.wordpress.com/2015/09/10/)

ในตอนนี้นิจะมาแจ้งรายละเอียดการรับสมัครให้ฟัง สำหรับผู้ที่สนใจในอาชีพและธุรกิจนี้นะคะ ซึ่งถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่มองหาอาชีพที่ให้โอกาสคุณ….

  • ในการพบปะผู้คนใหม่ๆ อยู่เสมอ
  • ได้ค้นพบ พัฒนา และได้ใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่
  • ได้รับการยอมรับจากตนเองและผู้อื่น
  •  ได้มีโอกาสเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้อื่น
  • มีรายได้อย่างไม่จำกัด
  • มีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น และสามารถบริหารเวลาได้….

และหากคุณกำลังมองหาอาชีพที่ท้าทายในธุรกิจการให้บริการทางการเงิน (Financial Services Industry) อยู่ล่ะก็ บริษัทโปรฟิต โปรเฟสชั่นแนล จำกัด (บริษัทของนิเองคร่า ^^) พร้อมที่จะเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ความต้องการของคุณ เพราะเป้าหมายที่สำคัญของเรา คือ ความสำเร็จของคุณ คือความสำเร็จของเรา

รับสมัครผู้ช่วยนักวางแผนการเงิน CFP

บริษัทโปรฟิต โปรเฟสชั่นแนล จำกัด คือ บริษัทที่ให้บริการทางการเงินแบบครบวงจร ตั้งแต่การจัดฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการวางแผนการเงินส่วนบุคคลให้แก่องค์กรและประชาชนทั่วไป  และให้บริการการวางแผนการเงินส่วนบุคคล โดยใช้หลักการวางแผนการเงินตามหลักสากล เพื่อช่วยให้ลูกค้า บรรลุทุกเป้าหมายทางการเงินที่ต้องการ ผ่านการบริการสินค้าทางการเงินที่เหมาะสมกับเป้าหมายนั้นๆ เช่น การวางแผนเพื่อเกษียณอายุ การวางแผนภาษี การวางแผนลงทุน การวางแผนบริหารความเสี่ยง เป็นต้น รวมไปถึงการให้บริการสำหรับลูกค้าองค์กรอีกด้วย เช่น การจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การประกันสุขภาพพนักงาน เป็นต้น

ลักษณะงาน

  • ค้นหาเป้าหมายทางการเงิน วางแผนและจัดทำแผนการเงินที่เหมาะสม
  • นำเสนอและให้บริการสินค้าทางการเงินที่เหมาะสมและตอบโจทย์เป้าหมายทางการเงินของลูกค้า

คุณสมบัติที่ต้องการ

  • สัญชาติไทย อายุระหว่าง 25 – 45 ปี
  • การศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่าทุกสาขา หากเป็นสาขาการเงิน บริหารธุรกิจ หรือการตลาดจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
  •  มีประสบการณ์ทำงานอย่างน้อย 3 ปี
  • หากมีพื้นฐานงานด้านการเงิน หรือผ่านการอบรม CFP module 1 หรือ 2 และมีใบอนุญาตแนะนำการลงทุน (Investment Consultant License) จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ
  • มีความเชื่อมั่นในตนเอง และกระตือรือล้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
  • มีทัศนคติบวก มีความมุ่งมั่นและต้องการที่จะประสบความสำเร็จ

หากคุณเป็นคนที่มีคุณสมบัติดังกล่าวข้างต้น เราต้องการคุณ มาร่วมงานและร่วมสร้างความสำเร็จร่วมกัน ….

สนใจข้อมูลเพิ่มเติม หรือสนใจส่งประวัติของคุณมาได้ที่ nipapuntalk@hotmail.com ซึ่งคนที่ผ่านการพิจารณาในรอบแรก นิจะเชิญให้มาฟัง Open House และนัดสัมภาษณ์กันอีกที   อย่ารอช้า โอกาสเป็นของคุณแล้วค่ะ ^^

นักวางแผนการเงิน CFP® คือใคร

นักวางแผนการเงิน CFP® คือ ผู้ประกอบวิชาชีพนักวางแผนการเงิน ที่สามารถให้บริการวางแผนการเงินแบบองค์รวม ซึ่งประกอบด้วย แผนการลงทุน แผนการประกันชีวิต แผนภาษีและมรดก และแผนเกษียณอายุแก่ลูกค้า โดยให้คำปรึกษาและจัดทำแผนการเงินแบบองค์รวม ในทุกๆ ด้านตามที่กล่าวมาภายใต้ข้อจำกัดและเงื่อนไข เฉพาะของแต่ละบุคคล

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ลูกค้าสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินตามต้องการ และมีชีวิตบั้นปลายหลังเกษียณอายุอย่างมีความสุข มั่งคั่งและมั่นคงด้วยค่ะ โดยที่นักวางแผนการเงิน CFP® จะต้องสอบผ่านตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด และปฏิบัติตามจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพด้วยค่ะ ซึ่งในเมืองไทยก็จะมีสมาคมนักวางแผนการเงินไทย เป็นผู้ดูแลมาตรฐานของวิชาชีพนักวางแผนการเงิน CFP® (เข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.tfpa.or.th)

นักวางแผนการเงิน CFP คือใคร_rev

นักวางแผนการเงิน CFP® มีความสำคัญอย่างไร

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ภายใต้สภาวะการณ์ปัจจุบัน ที่ตลาดเงิน ตลาดทุน มีความผันผวนจนน่าเวียนหัว ถึงแม้จะมีการทำการบ้านอย่างหนัก ในการติดตามข้อมูลความเคลื่อนไหวต่างๆ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการลงทุน แต่การบริหารเงินๆ ทองๆ ของเราให้ทำงานแทนเราได้อย่างเต็มที่ ก็อาจไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนักนะคะ
        
แม้ว่าจะมีบริการของ กองทุนส่วนบุคคล  เพื่อช่วยทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาเรื่องเงินๆ ทองๆ และบริหารเงินให้กับเรา แต่ “ตัวช่วยประเภทนี้ก็อาจมีต้นทุนทางการเงินที่สูง ทำให้หลายคนอาจจะยังไม่พร้อมที่จะไปเลือกใช้บริการนี้ได้ ดังนั้นที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคล หรือ นักวางแผนการเงิน จึงมีความสำคัญขึ้นมา เพราะถ้าจะเปรียบไป นักวางแผนการเงินก็ไม่ต่างอะไรกับ “โค้ชส่วนตัวที่จะคอยให้คำแนะนำที่เหมาะสมเกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่ครอบคลุมทุกด้านให้กับคุณนั่นเองค่ะ
           
     
ลองเปรียบเทียบเรื่องนี้ดูกับ เรื่องใกล้ๆ ตัวหลายอย่างดูก็ได้ค่ะ เช่น หากคุณต้องลงมือทำอะไรสักอย่างที่จำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องบัญชี ภาษี กฏหมาย หรือแม้แต่ เรื่องสุขภาพ คุณก็ต้องใช้บริการของที่ปรึกษาในด้านนั้นๆ เพื่อให้มั่นใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างจะดำเนินไปในทิศทางที่ถูกต้อง และตรงกับเป้าหมายที่คุณวางไว้ 

อีกตัวอย่างที่ใกล้ตัว เช่น สำหรับคนที่ชอบไปออกกำลังกายตาม ฟิตเนส  หากต้องการที่จะดูดีและรักษารูปร่างให้สวยงาม ส่วนใหญ่ก็ต้องอาศัยความช่วยเหลือจาก ครูฝึกส่วนตัว (Personal Trainer) เพื่อให้คำแนะนำที่ถูกต้อง และยังจะเป็นตัวช่วยกระตุ้นที่ดีที่จะบังคับและกดดันให้เรามาออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง ไม่ล้มเลิกกลางคันไปเสียก่อนด้วยค่ะ

ดังนั้นการเลือกใช้บริการของนักวางแผนการเงิน จึงมีความสำคัญมากขึ้นค่ะ ไม่ว่าคุณจะมีเวลาที่จะค้นคว้าข้อมูลด้วยตัวคุณเอง หรือขยันขนาดไหน แต่การได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญจะทำให้คุณได้รับความสะดวกและน่าจะทำให้คุณไปถึงเป้าหมายทางการเงินที่คุณต้องการได้ง่ายขึ้นค่ะ

นักวางแผนการเงิน CFP ในเมืองไทยยังมีจำนวนที่น้อยอยู่มาก ทำให้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ นอกจากนี้ตามเป้าหมายของนิ นิต้องการสร้างทีมงาน เพื่อรองรับการขยายธุรกิจของนิด้วยค่ะ ดังนั้นสำหรับปีนี้นิจะเปิดรับผู้ช่วยนักวางแผนการเงิน 2 ตำแหน่งค่ะ รายละเอียดการรับสมัครจะประกาศให้ทราบพร้อมกันพรุ่งนี้ ต้องติดตามค่ะ ^^

สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการวางแผนการเงินกับนิได้ที่ nipapuntalk@hotmail.com ค่ะ หรือ ที่ Official Line Account: @nipapuntalk (อย่าลืม เติม @ ไว้ข้างหน้า nipapuntalk ด้วยค่ะ) แล้วพบกันในตอนต่อไปค่ะ และหากคิดว่าเป็นประโยชน์ช่วยแชร์ด้วยนะคร้า ขอบคุณมากค่ะ ^^

คุณรู้หรือไม่หลังเกษียณเรามีรายได้จากแหล่งใดบ้าง???

หลังจากที่เราคุยกันเรื่องการวางแผนเกษียณอายุกันมาหลายตอน อยากรู้มั้ยคะว่าแหล่งรายได้เพื่อการเกษียณอายุมีอะไรบ้าง

ทำไมเรื่องนี้จึงสำคัญ เพราะคุณจะได้กลับไปรวบรวมรายละเอียดแหล่งรายได้เพื่อการเกษียณอายุที่คุณมีอยู่ นำมาคำนวณประกอบการวางแผนเกษียณอายุ และจะได้รู้ว่าเพื่อการเกษียณอายุอย่างมั่งคั่งนั้น คุณจะต้องเตรียมเงินอีกเท่าไหร่นั่นเองค่ะ

เรามาดูกันเลยดีกว่าค่ะว่า แหล่งรายได้เพื่อการเกษียณอายุนั้นมาจากแหล่งไหนได้บ้าง

แหล่งรายได้เพื่อการเกษียณอายุ

กองทุนประกันสังคม

กองทุนประกันสังคมเป็นหนึ่งในการออมแบบภาคบังคับค่ะ เพราะรัฐบาลบังคับให้นายจ้างและลูกจ้างต้องส่งเงินเข้าประกันสังคม ซึ่งส่วนหนึ่งของเงินที่เราส่งเข้าประกันสังคมจะกลายมาเป็นแหล่งเงินเพื่อการเกษียณอายุของคุณได้ค่ะ ถ้าหากเราจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนมา 15 ปี พออายุ 55 ปี ก็จะได้รับเงินบำนาญชราภาพ ประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน คิดจากเพดานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาทตามข้อกำหนดของกองทุน และถ้าจ่ายสมทบเกินกว่า 15 ปี ก็จะได้โบนัสอีกปีละ 1.5% สมมติเราจ่ายสมทบมา 30 ปีก่อนเกษียณอายุ จะได้โบนัส 15 ปีหรืออีก 3,375 บาท รวมเป็น 6,375 บาทต่อเดือน ซึ่งยังไม่ได้ปรับด้วยเงินเฟ้อ หากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมของประกันสังคมสามารถเข้าไปที่ http://www.sso.go.th ค่ะ

กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

กรณีเป็นข้าราชการที่เป็นสมาชิกกองทุน จะได้รับเงินบำนาญ = (เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย x อายุราชการ)/ 50 แต่ต้องไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย หรืออาจเป็นเงินบำเหน็จ = เงินเดือนเดือนสุดท้าย x อายุราชการ ตามเงื่อนไขของทางราชการค่ะ หากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการสามารถเข้าไปที่ https://www.gpf.or.th ค่ะ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นหนึ่งในการออมภาคสมัครใจที่ลูกจ้างและนายจ้างสมัครใจร่วมกันสมทบเข้ากองทุน ถ้าคุณเริ่มทำงานและสะสมเงินเข้ากองทุนนี้ ตั้งแต่อายุ 25 ปี โดยสะสมที่ 3% ของเงินเดือน และสมมติว่าเงินเดือนอยู่ที่เดือนละ 20,000 บาท ถ้าอัตราการเพิ่มของเงินเดือนเพิ่มขึ้นปีละ 5% นายจ้างสมทบให้ 3% และกองทุนได้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 4% ต่อปี เมื่อคุณอายุ 60 ปี คุณจะมีเงินประมาณ 1.2 ล้านบาทจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพค่ะ นี่เป็นตัวอย่างคร่าวๆ ของการคำนวณเม็ดเงินที่ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งในแต่ละบริษัทหรือนายจ้างที่คุณทำงานอยู่ด้วยนั้นก็อาจจะมีกฎเกณฑ์ของเงินสะสม (ซึ่งเป็นส่วนของพนักงาน) และเงินสมทบ (ซึ่งเป็นส่วนของนายจ้าง) ที่แตกต่างกันออกไปในรายละเอียด รวมถึงนโยบายที่จะนำเงินที่สะสมและสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น ไปลงทุนให้ออกดอกออกผล งอกเงยได้อย่างไร ซึ่งคุณต้องกลับไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทของคุณด้วยนะคะ นอกจากนี้หากอยากศึกษาความเป็นมา ความเป็นไปของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในประเทศไทยเพิ่มเติม สามารถเข้าไปได้ที่ http://www.thaipvd.com ค่ะ

แต่ถึงแม้ว่า เราจะมีเงินได้จากกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ หรือเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินจาก กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการแล้วก็ตาม หากพิจารณาตัวเลขอย่างรอบคอบและปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เราก็จะพบว่าเงินที่คาดหวังว่าจะได้เหล่านั้น น่าจะยังไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นหลังเกษียณอายุ หากเราต้องการรักษามาตรฐานการใช้ชีวิตไว้ในระดับเดิม ดังนั้นเราจึงควรวางแผนการลงทุนและทำประกันชีวิตระยะยาวเพิ่มเติม เพื่อเป็นแหล่งเงินได้สำหรับการใช้จ่ายในวัยเกษียณด้วย ซึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ ได้แก่

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “RMF” ซึ่งจะช่วยสร้างวินัยในการลงทุนให้เราได้ เพราะเป็นการลงทุนระยะยาวที่ต้องลงทุนอย่างต่อเนื่อง และเรายังได้รับประโยชน์ทางภาษีในช่วงที่ลงทุนอีกด้วย ปัจจุบันมีกองทุนรวม RMF มากมาย ให้เราเลือกได้ตามนโยบายการลงทุนที่ต้องการ คุณสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมในการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพได้ที่ http://www.sec.or.th/infocenter/report/Content_0000000744.jsp?…lang  และ www.thaimutualfund.com ค่ะ

การทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์และหรือการทำประกันชีวิตแบบบำนาญ แม้ว่าผลตอบแทนที่แท้จริงจากการทำประกันชีวิตจะไม่มากมายนักแต่การทำประกันชีวิตแบบระยะยาว มีข้อดีก็คือ สร้างวินัยทางการเงินให้เราได้ มีให้เลือกหลายแบบ มีวงเงินคุ้มครองกรณีเสียชีวิต และยังได้สิทธิประโยชน์ในทางภาษีอีกด้วย

เดี๋ยวนิจะค่อยๆ มาเล่าให้ฟังว่าสินค้าทางการเงินแต่ละแบบ ข้อดี ข้อเสีย มีความเสี่ยงและผลตอบแทนอย่างไร รวมไปถึงเทคนิคในการเลือกซื้อสินค้าทางการเงินแต่ละแบบว่าควรพิจารณาอย่างไรด้วยค่ะ ต้องติดตามค่ะ ^^

สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการวางแผนการเงินกับนิได้ที่ nipapuntalk@hotmail.com ค่ะ หรือ ที่ Official Line Account: @nipapuntalk (อย่าลืม เติม @ ไว้ข้างหน้า nipapuntalk ด้วยค่ะ) แล้วพบกันในตอนต่อไปค่ะ และหากคิดว่าเป็นประโยชน์ช่วยแชร์ด้วยนะคร้า ขอบคุณมากค่ะ ^^

เป้าหมาย: อยากใช้เดือนละ 25,000 บาทเป็นเวลา 20 ปีหลังเกษียณต้องทำอย่างไร

ตอนนี้ นิก็มีตารางสำเร็จรูปเพื่อช่วยในการวางแผนเกษียณอายุอีก 1 ตารางที่น่าสนใจ และคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์มาฝากกันค่ะ

เนื่องจากในบทความก่อนหน้า ‘มีเงิน 10 ล้านบาทก่อน 60 คุณทำได้!!!’

(อ่านย้อนหลังได้ที่ https://nipapuntalk.wordpress.com/2015/09/04/)

คุณคิดว่าถ้าต้องเกษียณอายุที่ 60 ปี แล้วมีเงิน 10 ล้านบาท ณ ตอนเกษียณอายุจะพอใช้หรือเปล่า?? แล้วเจ้าเงิน 10 ล้านบาทนี้เราจะสามารถใช้ได้เดือนละเท่าไหร่ และใช้ไปได้กี่ปี??

เป็นคำถามที่น่าสนใจมั้ยคะ??? และคุณอยากรู้คำตอบมั้ยคะ???

ในตอนนี้นิก็เลยตั้งคำถามใหม่ให้ค่ะว่า ‘หากคุณมีเป้าหมายอยากมีเงินใช้เดือนละ 25,000  บาทต่อเดือน (ค่าเงินปัจจุบัน) เป็นเวลา 20 ปีหลังเกษียณอายุ’ คุณต้องเก็บเงินและนำเงินไปลงทุนต่อเดือนเท่าไหร่ มาดูกันเลยค่ะ

ตารางที่ 1 เป้าหมายอยากมีเงินใช้ 25,000 บาทต่อเดือนเป็นเวลา 20 ปีหลังเกษียณ

เป้า อยากใช้ 25 K

เหมือนเดิมค่ะ ถ้าวันนี้คุณมีอายุ 30 ปี อยากเกษียณที่อายุ 60 ปี ต้องการมีเงินใช้เดือนละ 25,000 บาทเป็นเวลา 20 ปีหลังจากนั้น ถ้าคุณสามารถนำไปเงินลงทุนในการลงทุนที่ได้อัตราผลตอบแทนคาดหวัง 10% ต่อปี คุณต้องออมเงินและลงทุนต่อเดือนอยู่ที่ 9,859 บาทเท่าๆ กันทุกเดือน

ในทางกลับกัน ถ้าคุณไม่รู้จักการลงทุน และเอาเงินไปฝากประจำที่ได้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 2% ต่อปี คุณต้องออมเงินต่อเดือนสูงถึง 39,975 บาทเลยทีเดียวค่ะ

เมื่อเทียบกับตารางเดิมเมื่อบทความก่อน

ตารางที่ 2 มีเงิน 10 ล้านบาทก่อน 60 คุณทำได้

มี 10 ล้านก่อน 60 คุณทำได้

คุณจะเห็นว่าที่อายุ 30 ปีเท่ากัน หากต้องการมีเงิน 10 ล้านบาท ที่อัตราผลตอบแทนคาดหวัง 2% คุณจะเก็บเงินเพียง 20,295 บาท เมื่อเทียบกับ 39,975 บาทในตารางที่ 1

แล้วถ้าเรามาเทียบ apple to apple ที่อัตราผลตอบแทนคาดหวัง 8% ต่อปีในตารางที่ 1 เพื่อจะมีเงินใช้ 25,000 บาทต่อเดือนไปอีก 20 ปีหลังเกษียณ คุณต้องเก็บเงินและนำเงินไปลงทุนที่ 14,316 บาทต่อเดือน ในขณะที่ในตารางที่ 2 คุณจะใช้เงินลงทุนเพียง 6,080 บาทต่อเดือนเท่านั้น

จาก 2 ตารางนี้เราก็จะได้ข้อสรุปอย่างชัดเจนว่า ถ้าหากอยากมีเงินใช้เดือนละ 25,000 บาทไปอีก 20 ปีหลังเกษียณ เงิน 10 ล้านบาทไม่พอค่ะ

ที่เขียนเรื่องนี้ไม่ได้อยากจะขู่ให้คุณตกใจ แต่ต้องการจะสื่อสารว่า การวางแผนเกษียณอายุ สำคัญจริงๆ ค่ะ ถ้าเราไม่รีบวางแผนการเงินตั้งแต่วันนี้ โอกาสที่คุณจะมีเงินเกษียณอายุไม่พอใช้มีสูงมากจริงๆ ค่ะ

ดังนั้นต้องมาติดตามและเรียนรู้เรื่องราวของการวางแผนการเงินดีๆ จากนิกันต่อไปนะคร้า ^^

หมายเหตุ

  1. ในการคำนวณตัวเลขในตารางที่ 1 ได้รวมผลเงินเฟ้อไปเรียบร้อยแล้วค่ะ
  2. ในการคำนวณทั้ง 2 ตาราง สมมติว่าคุณไม่เคยได้เตรียมเงินเพื่อเกษียณอายุมาก่อนเลย แปลว่าตั้งต้นจากศูนย์ หากคุณมีการเตรียมกองทุนเกษียณอายุไว้บ้างแล้ว ต้องเอาเงินส่วนที่ได้เตรียมไว้มาหักออกค่ะ เงินที่ต้องเตรียมก็จะน้อยกว่าตัวเลขที่โชว์ในตาราง
  3. ตารางที่ 1 สามารถแปลความได้ 2 แบบคือ ถ้าอยากใช้เดือนละ 25,000 บาท คุณก็จะสามารถใช้เงินก้อนนี้ไปได้อีก 20 ปี แต่ถ้าคุณจะใช้เดือนละ 20,000 บาท คุณก็สามารถยืดอายุการใช้เงินได้ออกไปเป็น 25 ปีค่ะ

สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการวางแผนการเงินกับนิได้ที่ nipapuntalk@hotmail.com ค่ะ หรือ ที่ Official Line Account: @nipapuntalk (อย่าลืม เติม @ ไว้ข้างหน้า nipapuntalk ด้วยค่ะ) แล้วพบกันในตอนต่อไปค่ะ และหากคิดว่าเป็นประโยชน์ช่วยแชร์ด้วยนะคร้า ขอบคุณมากค่ะ ^^

เศรษฐีเขาใช้บัตรเครดิตกันอย่างไร?

สำหรับตอนนี้ นิมีบทความเรื่องเศรษฐีเขาใช้บัตรเครดิตกันอย่างไรจากธนาคารกรุงศรีมาฝากค่ะ ติดตามอ่านได้เลยค่ะ

เศรษฐีเขาใช้บัตรเครดิตกันอย่างไร

เศรษฐีหรือคนรวยนิยมใช้บัตรเครดิตมากกว่าการใช้เงินสดในการจับจ่ายใช้สอย ซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆ เพราะการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตโดยมีการบริหารจัดการที่ดีของคนรวยนั้นมีประโยชน์มากมาย  นอกจากจะทำให้เงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นแล้ว ยังไม่มีค่าธรรมเนียมรายปี รวมทั้งการชำระเต็มจำนวนตรงตามกำหนดโดยไม่มีการค้างชำระ ทำให้ไม่มีค่าธรรมเนียมในการเรียกเก็บและยังไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมากอีกด้วย ต่างจากคนทั่วไปที่มักจะจ่ายชำระยอดบัตรเครดิตในขั้นต่ำ หรือมักจะจ่ายล่าช้าหรือค้างชำระ จึงต้องเสียค่าธรรมเนียมในการเรียกเก็บ และเสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมาก

สำหรับเคล็ดลับในการใช้บัตรเครดิตตามแบบฉบับคนรวย มีอะไรบ้างนั้น จะขอเล่าสู่กันฟัง ดังต่อไปนี้

1. สมัครบัตรเครดิต แถมของกำนัล

คนรวยมีการวางแผนและมีการกำหนดงบประมาณในการใช้จ่ายเงินอยู่เสมอ เช่น การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้า หรือบริการที่จำเป็น หรือเพื่อใช้เพื่อการลงทุน เพียงแต่ปรับเปลี่ยนรูปแบบในชำระเงินจากเงินสดมาเป็นบัตรเครดิต ซึ่งหลังจากสมัครบัตรเครดิต และใช้จ่ายซื้อสินค้า บริการ ผ่านบัตรเครดิตครบตามเงื่อนไขตามที่ธนาคารเจ้าของบัตรกำหนดไว้ จะได้รับของกำนัลเพิ่มเติม เช่น ตั๋วเครื่องบินไป-กลับ ในประเทศหรือต่างประเทศ  บริการห้องพักรับรองพิเศษของสายการบินที่กำหนด พักผ่อนฟรีที่โรงแรมที่กำหนด กระเป๋าเดินทางใบเก๋ หรือของกำนัลอื่นในรูปแบบต่างๆ

2. มอบส่วนลดร่วมกับร้านค้า ร้านอาหาร

เวลาไปซื้อสินค้าที่ร้านค้า หรือห้างสรรพสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าจำเป็น หรือสินค้าที่ช่วยอำนวยความสะดวกในที่อยู่อาศัย การใช้ชีวิตประจำวันหรือในการทำงาน เช่น ต้องการซื้อ Notebook Tablet Smartphone เพื่อให้ทำงานนอกสถานที่ได้สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น หรือต้องการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องปรับอากาศ ทีวี ตู้เย็น มักจะเห็นส่วนลดค่อนข้างมากเวลาจัดรายการร่วมกับบัตรเครดิตต่างๆ  นอกจากนี้การไปทานข้าวที่ร้านอาหาร ที่โรงแรมกับครอบครัว หรือทานอาหารกับลูกค้าเพื่อพบปะ พูดคุยเชิงธุรกิจ การใช้บัตรเครดิตที่มีส่วนลดสูงๆ หรือมีโปรโมชั่น เช่น 1 แถม 1 สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับคนรวยมากเลยทีเดียว

3. Cash Back สำหรับการเติมน้ำมันหรือซื้อสินค้า บริการต่างๆ

โปรโมชั่น Cash Back หรือการคืนเงินให้ในรอบบิลถัดไป ได้รับความนิยมมากสำหรับการเติมน้ำมัน เพราะ การเดินทางเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน คงจะดีไม่น้อยถ้าการเติมน้ำมันเป็นประจำ ผ่านบัตรเครดิตแล้วมี Cash Back กลับคืนมาให้เงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การจับจ่ายใช้สอย ซื้อสินค้า บริการ ในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ก็มี Cash Back ด้วยนะคะ

4. โปรโมชั่นผ่อน 0%

เมื่อรูดซื้อสินค้าที่มีโปรโมชั่น ผ่อน 0% นาน 3 – 10 เดือน ทำให้เราไม่ต้องจ่ายเงินก้อนในการซื้อสินค้าที่มีราคาสูง แต่สามารถทยอยผ่อนชำระเป็นงวด เป็นข้อดีที่ทำให้เราสามารถบริหารกระแสเงินสดได้ มีประโยชน์อย่างยิ่งกับคนรวยที่มักจะลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น บ้าน หรือคอนโดให้เช่า ที่จะต้องมีการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ เพื่อตกแต่งบ้าน รวมถึงเมื่อมีการเดินทางเพื่อไปท่องเที่ยว ก็สามารถเลือกใช้โปรโมชั่นผ่อน 0% ร่วมกับบัตรเครดิตเพื่อซื้อแพกเกจทัวร์ได้เช่นกัน

5. สะสมแต้มแลกของรางวัล

การรูดบัตรเครดิตเพื่อซื้อสินค้าแทนการใช้เงินสด สามารถสะสมแต้ม และนำแต้มนั้นไปแลกของกำนัลต่างๆได้มากมาย อาทิเช่น Gift Voucher ในการทานอาหาร ท่องเที่ยว ที่พักโรงแรมต่างๆ รวมถึงสามารถแลกเป็นสิ่งของที่มีประโยชน์ได้มากมาย เช่น โทรศัพท์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ ได้อีกด้วย   

6. ประกันอุบัติเหตุจากการเดินทางเมื่อซื้อบัตรโดยสารเครื่องบิน

เมื่อรูดบัตรเครดิตซื้อตั๋วโดยสารเครื่องบิน จะมีประกันอุบัติเหตุจากการเดินทางโดยสารเครื่องบิน รวมถึงมีประกันเที่ยวบินล่าช้าหรือกระเป๋าเดินทางล่าช้าหรือสูญหาย และยังได้รับความสะดวกในการซื้อตั๋วโดยสารแบบออนไลน์อีกด้วย

7. บริการหักบัญชีบัตรเครดิตเพื่อจ่าย ค่าไฟฟ้าน้ำประปา ค่าโทรศัพท์

คนรวยจะใช้เวลาอย่างคุ้มค่าให้กับการทำงานและครอบครัว โดยจะไม่เสียเวลากับเรื่องเล็กน้อย แต่หากลืมชำระแล้วจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ต้องเสียเวลาไปชำระค่าไฟฟ้า น้ำประปา หรือค่าโทรศัพท์ ทุกเดือน แต่คนรวยจะใช้บริการหักบัญชีบัตรเครดิต ซึ่งมีความสะดวกมากกว่าและยังมีบริการ SMS แจ้งยอดการใช้จ่ายทุกรอบบิล หรือบริการโทรแจ้งหากเลยกำหนดชำระ จึงทำให้สามารถชำระบัตรเครดิตได้ตามกำหนดโดยไม่ต้องเสียค่าปรับหรือดอกเบี้ย

เคล็ดลับข้างต้นทั้ง 7 ข้อ แสดงให้เห็นว่าคนรวยได้รับประโยชน์การจากใช้บัตรเครดิตมากมายได้อย่างไรบ้าง นอกจากจะได้กำไรที่เป็นเงินส่วนเพิ่มกลับมาจากการใช้บัตรเครดิตแล้วยังได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมถึงสามารถจัดการการใช้จ่ายต่างๆให้เป็นระบบมากขึ้น

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมในด้านสิทธิประโยชน์จากการใช้บัตรเครดิต ติดต่อได้ที่  www.krungsri.com

มีเงิน 10 ล้านบาทก่อน 60 คุณทำได้ !!!

เราได้เรียนรู้เรื่องพลังดอกเบี้ยทบต้น มูลค่าของเงินตามเวลา และได้ลองวางแผนเกษียณอายุกันไปแล้ว สำหรับใครที่คิดว่าการคำนวณนั้นยังยากอยู่ ไม่เป็นไรค่ะ อย่าเพิ่งท้อใจไป ค่อยๆ เรียนรู้กันไปนะคะ เรื่องเงินๆ ทองๆ แม้ว่าจะเป็นศาสตร์ที่โรงเรียนไม่เคยสอน แต่แท้ที่จริงแล้วมันเป็นวิชาภาคบังคับที่ทุกคนต้องเรียนรู้กันจริงๆ ค่ะ

นอกจากการคำนวณตามตารางที่เล่าไปแล้วในตอนก่อนๆ สามารถอ่านย้อนหลังได้ที่

https://nipapuntalk.wordpress.com/2015/09/01/

https://nipapuntalk.wordpress.com/2015/09/02/

https://nipapuntalk.wordpress.com/2015/09/03/

สำหรับวันนี้นิก็มีตารางง่ายๆ ซึ่งเป็นตารางการคำนวณแบบสำเร็จรูปเพื่อแสดงให้คุณเห็นว่าการมีเงิน10 ล้านบาทก่อนเกษียณอายุเป็นเป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินเอื้อมเลยค่ะ

มี 10 ล้านก่อน 60 คุณทำได้

วิธีการอ่านตารางข้างต้นนะคะ ให้คุณเลือกดูที่อายุของคุณในปัจจุบัน คุณก็จะทราบว่าคุณจะมีระยะเวลาลงทุนเหลืออีกกี่ปี จากนั้นก็มาดูในแต่ละคอลัมน์ของผลตอบแทนว่าคุณคิดว่าสามารถหาอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนได้กี่เปอร์เซ็นต์ เมื่อไล่ลงมาตามคอลัมน์ของอัตราผลตอบแทนนั้นๆ คุณก็จะทราบว่าคุณจะต้องเก็บเงินลงทุนต่อเดือนเท่าไหร่

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าวันนี้คุณมีอายุ 30 ปี ก็ให้ไปดูที่แถวของอายุที่ 30 ปี หากคุณต้องการเกษียณอายุที่อายุ 60 ปี นั่นก็แปลว่าคุณเหลือระยะเวลาในการลงทุนอีก 30 ปีค่ะ ต่อไปเราก็มาดูที่ช่องของอัตราผลตอบแทน ถ้าคุณสามารถหาการลงทุนที่ให้อัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 8% ต่อปี คุณจะเห็นว่าคุณต้องเก็บเงินเพื่อไปลงทุนต่อเดือนที่เดือนละ 6,080 บาทเท่าๆ กันทุกเดือนและทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนครบ 30 ปี ถึงตอนนั้นคุณก็จะมีเงิน 10 ล้านบาทค่ะ ง่ายใช่มั้ยคะ

แต่ในทางตรงกันข้ามหากคุณไม่มีความรู้เรื่องการลงทุนเลย และไม่รู้ว่าจะหาการลงทุนอะไรที่ให้อัตราผลตอบแทนที่ 8% ต่อปีได้ คุณก็เลยนำเงินของคุณไปฝากบัญชีฝากประจำกับธนาคารและได้รับดอกเบี้ยสุทธิที่ 2% ต่อปี เราลองมาดูกันที่ช่องของอัตราผลตอบแทน 2% กันนะคะ

จากภาพคุณจะเห็นว่าคุณต้องเก็บเงินถึงเดือนละ 20,295 บาทลันำไปฝากธนาคารเพื่อได้รับดอกเบี้ย 2% ต่อปีทุกปี เป็นเวลา 30 ปีคุณถึงจะมีเงิน 10 ล้านบาท คำถามคือ ความเป็นไปได้ของคนที่อายุ 30 ปีแล้วต้องเก็บเงินเดือนละสองหมื่นกว่าบาทเพื่อเตรียมไว้สำหรับการเกษียณอายุ คุณคิดว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนคะ นิไม่ได้บอกว่าเป็นไปไม่ได้เลยนะคะ เพราะอาจจะมีคนอายุ 30 ปีบางคนที่เก่งมาก สามารถสร้างรายได้มากๆ ได้ตั้งแต่ยังอายุน้อยๆ แต่ทว่าในความเป็นจริงโอกาสที่คนส่วนใหญ่จะเก็บได้น้อยมากค่ะ

สำหรับท่านผู้อ่าน อายุใคร อายุมัน เลือกตัวเลขในตารางได้ตามสะดวกเลยคร่า

คำถามถัดมาแล้วเราจะต้องทำอย่างไร คำตอบคือนี่ล่ะค่ะคือเหตุผลที่ว่าทำไมวันนี้คุณจึงต้องมาเรียนรู้และทำความรู้จักกับเรื่องราวของการลงทุนด้วยค่ะ เพราะแค่ลำพังการฝากเงินที่ธนาคารไม่สามารถพาคุณไปสู่เป้าหมายทางการเงินที่คุณต้องการได้

แต่หลายคนก็อาจจะแย้งว่าการลงทุนมีความเสี่ยง มีโอกาสที่เราจะสูญเงินต้นก็เป็นได้ หากคุณมีความคิดหรือความเชื่อเช่นนั้นก็ไม่ได้ผิดอะไรนะคะ แต่ก็นั่นแหละค่ะ นี่ก็เป็นเหตุผลสำคัญอีกข้อหนึ่งที่เราต้องเรียนรู้เรื่องของการวางแผนการเงินส่วนบุคคล เพราะหากคุณมีการวางแผนการเงินตามเป้าหมายแล้วล่ะก็ คุณจะมีการจัดสรรเงินอย่างเป็นระบบ คุณก็จะทราบได้ว่าเงินก้อนไหนที่เป็นเงินเย็นจริงๆ และสามารถนำมาลงทุนได้อย่างสบายใจจริงๆ ค่ะ

เพราะในการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทุกประเภท คุณต้องมีระยะเวลาการลงทุนที่ยาวนานมากพอค่ะ เพราะการลงทุนที่มีระยะเวลาที่ยาวนานมากพอและการมีการกระจายความเสี่ยงของการลงทุนอย่างเหมาะสม ในระยะยาวจะช่วยลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนได้ค่ะ ซึ่งนิจะค่อยๆ มาเล่าสู่กันฟังในตอนถัดๆ ไปนะคะ ต้องติดตามค่ะ ^^

สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการวางแผนการเงินกับนิได้ที่ nipapuntalk@hotmail.com ค่ะ หรือ ที่ Official Line Account: @nipapuntalk (อย่าลืม เติม @ ไว้ข้างหน้า nipapuntalk ด้วยค่ะ) แล้วพบกันในตอนต่อไปค่ะ และหากคิดว่าเป็นประโยชน์ช่วยแชร์ด้วยนะคร้า ขอบคุณมากค่ะ ^^

มาวางแผนเกษียณอายุกันเถอะ (3)

มาถึงตอนนี้ก็เป็นขั้นสุดท้ายของการวางแผนเกษียณอายุแล้วนะคะ เรามาดูต่อกันเลยค่ะว่าขั้นที่ 5  ของการวางแผนเกษียณอายุเราต้องทำอย่างไรบ้าง

สำหรับใครที่ยังไม่ได้อ่านตอนที่ 1 และ  2 สามารถอ่านบทความย้อนหลังได้ที่

https://nipapuntalk.wordpress.com/2015/09/01/

https://nipapuntalk.wordpress.com/2015/09/02

5. วางแผนการออมและการลงทุนในปัจจุบัน จากประมาณการค่าใช้จ่ายและแหล่งเงินได้เพื่อการเกษียณในข้อ 3 และข้อ 4 ทำให้เราทราบว่าเงินเพื่อการเกษียณอายุของเรายังขาดอยู่อีก 8,826,448 บาท มีตารางสรุปการคำนวณให้ดูกันอีกรอบค่ะ

กองทุนเกษียณอายุ (3)

ในขณะที่เราเหลือระยะเวลาการลงทุนอีก 27 ปี ถ้าเราสามารถหาการลงทุนที่ให้อัตราผลตอบแทน 7% ต่อปี (ซึ่งไม่น่าที่จะเป็นเรื่องที่ยากจนเกินไปในการหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทน 7% ต่อปีนะคะ) เราก็จะสามารถคำนวณได้ว่าเราต้องเก็บเงินเพื่อนำไปลงทุนต่อปีแบบเงินงวดรายปีเท่ากันเป็นจำนวนเท่าใด

ซึ่งในตัวอย่างนี้สามารถคำนวณได้ว่าจำนวนเงินที่คุณต้องการลงทุนต่อปีแบบเงินงวดรายปีเท่ากันอยู่ที่ 118,502 บาทต่อปีหรือเท่ากับ 9,876 บาทต่อเดือน ในกรณีที่คุณคิดว่าการเก็บเงินเพิ่มอีกเดือนละประมาณหนึ่งหมื่นบาทเป็นเรื่องที่หนักและเกินกำลัง อีก 1 ทางเลือกที่เป็นไปได้ก็คือคุณเริ่มต้นเก็บเงินเพิ่มเดือนละ 5,931 บาทหรือปีละ 71,169 บาทแล้วเมื่อคุณเติบโตก้าวหน้า รายได้ของคุณก็จะเพิ่มขึ้นไปตามลำดับ นิก็ขอให้คุณเพิ่มการสะสมเงินต่อปีอีกปีละ 5% และเพิ่มไปเรื่อยๆ จนครบ 27 ปีคุณก็จะมีเงินเพื่อการเกษียณอายุในส่วนที่ขาดอยู่เท่ากับการเก็บเงินแบบเท่าๆ กันทุกปีค่ะ รายละเอียดการคำนวณดังแสดงค่ะ

กองทุนเกษียณอายุ (3.1) 

การคำนวณดังตารางอาจดูซับซ้อนไปสักนิดนะคะ เนื่องจากเรามีการคำนึงผลของเงินเฟ้อและค่าของเงินตามเวลาเข้าไปในสูตรคำนวณด้วยค่ะ โดยที่การคำนวณในขั้นนี้เราจะใช้การคำนวณมูลค่าอนาคตของเงินงวดค่ะ โดยเรารู้ว่า FV = 8,826,448, i = 7%, n = 27 เราจะคำนวณหา PMT หรือเงินงวดที่เราต้องเก็บเท่าๆ กันทุกปีได้ (เราสามารถใช้ฟังก์ชัน PMT ใน Excel เพื่อช่วยในการคำนวณก็ได้นะคะ หรือจะใช้ financial calculator หรือ  เครื่องคิดเลขทางการเงิน ซึ่งเดี๋ยวนี้มีทำเป็น application ให้ใช้ง่ายๆ ด้วยค่ะ

แม้การคำนวณอาจจะดูยากไปสักนิด แต่ที่นินำมาเสนอในที่นี้เพื่ออยากให้เกิดแรงบันดาลใจค่ะว่าเรื่องของการเก็บเงิน และวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณอายุไม่ได้เป็นเรื่องยากกว่าที่คิด ยิ่งเรามีระยะเวลาในการลงทุนที่ยาวนานมากพอ ยิ่งกลายเป็นเรื่องง่ายมากขึ้น เพราะเราไม่จำเป็นต้องใช้เงินต้นที่เยะมาก นอกจากนี้เรายังสามารถนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงมากขึ้นได้ด้วยค่ะดังนั้นเชื่อนิเถอะค่ะว่า ออมก่อน รวยกว่าเป็นเรื่องที่จริงที่สุดเลยค่ะ

สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการวางแผนการเงินกับนิได้ที่ nipapuntalk@hotmail.com ค่ะ หรือ ที่ Official Line Account: @nipapuntalk (อย่าลืม เติม @ ไว้ข้างหน้า nipapuntalk ด้วยค่ะ) แล้วพบกันในตอนต่อไปค่ะ ^^

มาวางแผนเกษียณอายุกันเถอะ (2)

เรามาลองคำนวณเรื่องการวางแผนเกษียณอายุกันต่อนะคะ

สำหรับใครที่พลาดอ่านตอนแรกไป Click อ่านได้เลยค่ะที่

https://nipapuntalk.wordpress.com/2015/09/01/

ส่วนวันนี้เรามาต่อกันที่ขั้นที่ 4 ในการวางแผนเกษียณอายุกันค่ะ

4. ประมาณการแหล่งเงินทั้งหมดที่เตรียมไว้เพื่อการเกษียณอายุ เช่น เงินบำเหน็จบำนาญ เงินรับจากกองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รายได้จากการลงทุน การประกันชีวิต เป็นต้น ว่าเพียงพอต่อความต้องการหรือไม่

ในขั้นนี้เราจะตั้งต้นคำนวณกันว่าสินทรัพย์ที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจากแผนภาพ คือ b เล็ก นิขอเรียกชื่อเล่น b เล็กว่าบุญเก่าของเรานะคะ (b เล็กสามารถคำนวณได้จากงบการเงินส่วนบุคคล) ความหมายก็คือตั้งแต่คุณเริ่มทำงานมา ได้มีการสะสมทรัพย์สินหรือสินทรัพย์อะไรไว้บ้าง และสินทรัพย์เหล่านั้นมีมูลค่าเท่าไหร่ในปัจจุบัน เปรียบไปก็เป็นเหมือนบุญเก่าทางการเงินที่ได้สะสมมา หากคุณไม่ได้มีการวางแผนการเงินอะไรเพิ่มเติม และปล่อย b เล็กทั้งหมดไว้ในที่ๆ ที่มันเคยอยู่และรับผลตอบแทนแบบเดิมแบบที่เคยได้รับ เมื่อเวลาผ่านไป 27 ปี (ระยะเวลาที่เหลือก่อนการเกษียณอายุ) b เล็กก็จะโตเป็น B ใหญ่ค่ะ

ทีนี้เราจะมาพิจารณาว่า b ของคุณจะกลายเป็น B ใหญ่ขนาดไหน ก็ขึ้นอยู่กับประเภทสินทรัพย์ที่คุณมี หรือที่คุณได้นำไปลงทุนไว้ ถ้าหากคุณมีการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น หรือกองทุนรวมที่ลงในหุ้น ซึ่งในระยะยาวแล้วผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้จะชนะเงินเฟ้อค่ะ และจากสถิติอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตั้งแต่เปิดตลาดมาจากปี 2518 จนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 12% ถ้าคุณมีระยะเวลาการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่ยาวนานมากพอ นิเชื่อว่าโอกาสที่ b เล็กของคุณจะโตเป็น B ที่ใหญ่ก็มีสูงค่ะ และมีโอกาสที่คุณสามารถเกษียณอายุได้อย่างสบายๆ เลยค่ะ แต่ทว่าหากสินทรัพย์ส่วนใหญ่ของคุณอยู่ในรูปเงินฝาก หรือพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งให้อัตราผลตอบแทนที่ไม่สูงนัก นิเกรงว่าเมื่อถึงเวลาเกษียณอายุ b เล็กของคุณก็อาจไม่เติบโตกลายเป็น B ใหญ่ที่ใหญ่เท่าไหร่นัก ซ้ำร้ายหากคุณไม่มีเงินเก็บ หรือไม่เคยสะสมสินทรัพย์ใดๆ เลย b เล็กของคุณก็มีค่าเท่ากับศูนย์ค่ะ ถึงตอนนี้คุณก็พอจะทราบแล้ว B ใหญ่ของคุณมีค่าเป็นเท่าไหร่ เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น นิมีตัวอย่างการคำนวณมาให้ดูด้วยค่ะ

กองทุนเกษียณอายุ (2)

ซึ่งการคำนวณในขั้นนี้ก็คือการคำนวณมูลค่าอนาคตของเงินก้อนเดียวนั่นเองค่ะ โดยมูลค่าปัจจุบันของเงิน b เล็ก ด้วยผลตอบแทน i ใดๆ เมื่อเวลาผ่านไป 27 ปีจะโตเป็น  B ใหญ่ค่ะ เช่น

เงินฝากประจำ 200,000 บาทในวันนี้ (PV) ที่ดอกเบี้ย 2% ต่อปี (i) เมื่อผ่านไป 27 ปี (n) จะกลายเป็น 341,377 บาท (FV) ส่วนสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ก็มีการคำนวณในแบบเดียวกันค่ะ ก็จะได้ตัวเลขที่เห็นในตารางเลยค่ะ

จากตารางข้างต้นจะเห็นว่านิมีแหล่งเงินที่เตรียมไว้เพื่อการเกษียณอายุรวมทั้งสิ้น 1,400,000 บาท  ซึ่งก็คือ b เล็กของนินั่นเอง รายละเอียดแหล่งเงินและอัตราผลตอบแทนที่ได้รับของแหล่งเงินต่างๆ ดังแสดงในตาราง หากนิไม่ได้มีการวางแผนเก็บเงินและลงทุนเพิ่มเติมใดๆ ทั้งสิ้น ปล่อยให้เงินที่มีอยู่ อยู่ในที่ที่เคยอยู่ และได้รับผลตอบแทนแบบเดิมๆ เมื่อเวลาผ่านไป 27 ปี b เล็กของนิก็กลายเป็น B ใหญ่ที่มีมูลค่า 8,473,763 บาทค่ะ คำถาม คือ เงินก้อน B ใหญ่ที่ 8,473,763 บาทเพียงพอต่อการเกษียณอายุของนิมั้ยคะ

เพื่อตอบคำถามดังกล่าวข้างต้น ขอให้คุณนำ B ซึ่งมีค่าเท่ากับ 8,473,763 บาทเป็นตัวตั้งแล้วลบด้วย A ที่คำนวณได้จากข้อ 3 ซึ่งมีค่าเท่ากับ 17,300,211 บาท ผลลัพธ์ก็คือ – 8,826,448 บาท หรือ กองทุนเพื่อการเกษียณอายุของคุณยังขาดอยู่อีก 8,826,448 บาทค่ะ ถึงตอนนี้คุณคงจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นแล้วนะคะว่าถ้าหากนิไม่มีการวางแผนเกษียณอายุเพิ่มเติมอะไรเลย เมื่อถึงตอนที่นิอายุ 60 ปี เงินที่สะสมไว้ย่อมจะไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตไปอีก 25 ปีที่เหลือหลังเกษียณแน่นอนค่ะ แล้วเราจะต้องทำอย่างไรกันต่อไป เราก็ต้องเริ่มวางแผนเกษียณอายุกันอย่างจริงจังแล้วล่ะค่ะ

เรามาติดตามกันในตอนหน้าดูค่ะว่า ส่วนขาดอีก 8,826,448 บาท เราจะมีวิธีเตรียมอย่างไร

สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการวางแผนการเงินกับนิได้ที่ nipapuntalk@hotmail.com ค่ะ หรือ ที่ Official Line Account: @nipapuntalk (อย่าลืม เติม @ ไว้ข้างหน้า nipapuntalk ด้วยค่ะ) แล้วพบกันในตอนต่อไปค่ะ ^^