มาวางแผนเกษียณอายุกันเถอะ (2)

เรามาลองคำนวณเรื่องการวางแผนเกษียณอายุกันต่อนะคะ

สำหรับใครที่พลาดอ่านตอนแรกไป Click อ่านได้เลยค่ะที่

https://nipapuntalk.wordpress.com/2015/09/01/

ส่วนวันนี้เรามาต่อกันที่ขั้นที่ 4 ในการวางแผนเกษียณอายุกันค่ะ

4. ประมาณการแหล่งเงินทั้งหมดที่เตรียมไว้เพื่อการเกษียณอายุ เช่น เงินบำเหน็จบำนาญ เงินรับจากกองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รายได้จากการลงทุน การประกันชีวิต เป็นต้น ว่าเพียงพอต่อความต้องการหรือไม่

ในขั้นนี้เราจะตั้งต้นคำนวณกันว่าสินทรัพย์ที่เรามีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจากแผนภาพ คือ b เล็ก นิขอเรียกชื่อเล่น b เล็กว่าบุญเก่าของเรานะคะ (b เล็กสามารถคำนวณได้จากงบการเงินส่วนบุคคล) ความหมายก็คือตั้งแต่คุณเริ่มทำงานมา ได้มีการสะสมทรัพย์สินหรือสินทรัพย์อะไรไว้บ้าง และสินทรัพย์เหล่านั้นมีมูลค่าเท่าไหร่ในปัจจุบัน เปรียบไปก็เป็นเหมือนบุญเก่าทางการเงินที่ได้สะสมมา หากคุณไม่ได้มีการวางแผนการเงินอะไรเพิ่มเติม และปล่อย b เล็กทั้งหมดไว้ในที่ๆ ที่มันเคยอยู่และรับผลตอบแทนแบบเดิมแบบที่เคยได้รับ เมื่อเวลาผ่านไป 27 ปี (ระยะเวลาที่เหลือก่อนการเกษียณอายุ) b เล็กก็จะโตเป็น B ใหญ่ค่ะ

ทีนี้เราจะมาพิจารณาว่า b ของคุณจะกลายเป็น B ใหญ่ขนาดไหน ก็ขึ้นอยู่กับประเภทสินทรัพย์ที่คุณมี หรือที่คุณได้นำไปลงทุนไว้ ถ้าหากคุณมีการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น หรือกองทุนรวมที่ลงในหุ้น ซึ่งในระยะยาวแล้วผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้จะชนะเงินเฟ้อค่ะ และจากสถิติอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตั้งแต่เปิดตลาดมาจากปี 2518 จนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 12% ถ้าคุณมีระยะเวลาการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่ยาวนานมากพอ นิเชื่อว่าโอกาสที่ b เล็กของคุณจะโตเป็น B ที่ใหญ่ก็มีสูงค่ะ และมีโอกาสที่คุณสามารถเกษียณอายุได้อย่างสบายๆ เลยค่ะ แต่ทว่าหากสินทรัพย์ส่วนใหญ่ของคุณอยู่ในรูปเงินฝาก หรือพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งให้อัตราผลตอบแทนที่ไม่สูงนัก นิเกรงว่าเมื่อถึงเวลาเกษียณอายุ b เล็กของคุณก็อาจไม่เติบโตกลายเป็น B ใหญ่ที่ใหญ่เท่าไหร่นัก ซ้ำร้ายหากคุณไม่มีเงินเก็บ หรือไม่เคยสะสมสินทรัพย์ใดๆ เลย b เล็กของคุณก็มีค่าเท่ากับศูนย์ค่ะ ถึงตอนนี้คุณก็พอจะทราบแล้ว B ใหญ่ของคุณมีค่าเป็นเท่าไหร่ เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น นิมีตัวอย่างการคำนวณมาให้ดูด้วยค่ะ

กองทุนเกษียณอายุ (2)

ซึ่งการคำนวณในขั้นนี้ก็คือการคำนวณมูลค่าอนาคตของเงินก้อนเดียวนั่นเองค่ะ โดยมูลค่าปัจจุบันของเงิน b เล็ก ด้วยผลตอบแทน i ใดๆ เมื่อเวลาผ่านไป 27 ปีจะโตเป็น  B ใหญ่ค่ะ เช่น

เงินฝากประจำ 200,000 บาทในวันนี้ (PV) ที่ดอกเบี้ย 2% ต่อปี (i) เมื่อผ่านไป 27 ปี (n) จะกลายเป็น 341,377 บาท (FV) ส่วนสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ก็มีการคำนวณในแบบเดียวกันค่ะ ก็จะได้ตัวเลขที่เห็นในตารางเลยค่ะ

จากตารางข้างต้นจะเห็นว่านิมีแหล่งเงินที่เตรียมไว้เพื่อการเกษียณอายุรวมทั้งสิ้น 1,400,000 บาท  ซึ่งก็คือ b เล็กของนินั่นเอง รายละเอียดแหล่งเงินและอัตราผลตอบแทนที่ได้รับของแหล่งเงินต่างๆ ดังแสดงในตาราง หากนิไม่ได้มีการวางแผนเก็บเงินและลงทุนเพิ่มเติมใดๆ ทั้งสิ้น ปล่อยให้เงินที่มีอยู่ อยู่ในที่ที่เคยอยู่ และได้รับผลตอบแทนแบบเดิมๆ เมื่อเวลาผ่านไป 27 ปี b เล็กของนิก็กลายเป็น B ใหญ่ที่มีมูลค่า 8,473,763 บาทค่ะ คำถาม คือ เงินก้อน B ใหญ่ที่ 8,473,763 บาทเพียงพอต่อการเกษียณอายุของนิมั้ยคะ

เพื่อตอบคำถามดังกล่าวข้างต้น ขอให้คุณนำ B ซึ่งมีค่าเท่ากับ 8,473,763 บาทเป็นตัวตั้งแล้วลบด้วย A ที่คำนวณได้จากข้อ 3 ซึ่งมีค่าเท่ากับ 17,300,211 บาท ผลลัพธ์ก็คือ – 8,826,448 บาท หรือ กองทุนเพื่อการเกษียณอายุของคุณยังขาดอยู่อีก 8,826,448 บาทค่ะ ถึงตอนนี้คุณคงจะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นแล้วนะคะว่าถ้าหากนิไม่มีการวางแผนเกษียณอายุเพิ่มเติมอะไรเลย เมื่อถึงตอนที่นิอายุ 60 ปี เงินที่สะสมไว้ย่อมจะไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตไปอีก 25 ปีที่เหลือหลังเกษียณแน่นอนค่ะ แล้วเราจะต้องทำอย่างไรกันต่อไป เราก็ต้องเริ่มวางแผนเกษียณอายุกันอย่างจริงจังแล้วล่ะค่ะ

เรามาติดตามกันในตอนหน้าดูค่ะว่า ส่วนขาดอีก 8,826,448 บาท เราจะมีวิธีเตรียมอย่างไร

สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการวางแผนการเงินกับนิได้ที่ nipapuntalk@hotmail.com ค่ะ หรือ ที่ Official Line Account: @nipapuntalk (อย่าลืม เติม @ ไว้ข้างหน้า nipapuntalk ด้วยค่ะ) แล้วพบกันในตอนต่อไปค่ะ ^^

ใส่ความเห็น