Mission Possible ปฏิบัติการพลิกชีวิต: โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป สำคัญไฉน??

Slide2

วันนี้เรามาว่ากันด้วยเรื่อง “ประชากรของประเทศไทย” ของเรากันดีกว่าค่ะ

โดยที่เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2558 ที่ผ่านมามีรายงานข่าวว่า ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เกี่ยวกับจํานวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร โดยตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2557 นั้น พบว่า ประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 65,124,716 คน ในจำนวนนี้แยกเป็นชาย 31,999,008 คน หญิง 33,125,708 คน

ซึ่งจังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดก็คือกรุงเทพฯ มีประชากร 5,692,284 คน แยกเป็นชาย 2,695,519 คน หญิง 2,996,765 คน

โดยจากข้อมูลดังกล่าวนี้ก็เห็นได้ชัดเจนว่า… ประชากรหญิงมีมากกว่าประชากรชาย!! ตามหลักฐานทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2557 ในภาพรวมทั่วประเทศ ประชากรหญิงมีมากกว่าชาย 1,126,700 คน ถ้าโฟกัสที่เมืองหลวง กรุงเทพฯ ประชากรหญิงมีมากกว่าชาย 301,246 คน

ทีนี้หากเรามาว่ากันด้วยเรื่อง “สังคมผู้สูงอายุ” จากจำนวนประชากร ตามหลักการสากลทางองค์การสหประชาชาติ ระบุไว้ว่า ประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปในสัดส่วนเกินร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่าประเทศนั้นก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society และจะเป็น “สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ” หรือ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” หรือ Aged Society เมื่อสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20

สำหรับในประเทศไทย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย ระบุไว้ว่า ไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ช่วงปี 2549-2550 และจากรายงานสำรวจประชากรในปี 2550 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประชากรสูงอายุในไทยมีประมาณ 7 ล้านคน หรือร้อยละ 11 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งบ่งชี้ว่า ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และคาดว่าในปี 2565-2570 ไทยจะมีสัดส่วนประชากรสูงอายุเกือบร้อยละ 25 หรือเฉลี่ยในประชากร 4 คน จะมีผู้สูงอายุ 1 คน หรือ ไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์เกินเกณฑ์!

นอกจากนี้ จากการที่มีสุขภาวะที่ดีขึ้น ทำให้อัตราการเกิดและอัตราการตายลดลง ส่งผลให้ประเทศไทยมีประชากรสูงอายุเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในด้านขนาดของครอบครัวจะเล็กลง เฉลี่ยประมาณ 2 คน/ครัวเรือน และจะมีคนอยู่คนเดียวมากขึ้น โดยมีแนวโน้มที่ประชากรเมืองหลวงเมืองใหญ่จะออกไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างจังหวัดมากขึ้นค่ะ

ในเวลา 35 ปีจากนี้ คือปี 2558-2593 ไทยจะมีสัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว วัยทำงานจะลดลงอย่างมาก โดยจาก 43 ล้านคนในปี 2558 จะเหลือ 32 ล้านคนในปี 2593 ซึ่งประชากรกว่า 1.7 ล้านคนจะอยู่ในภาวะสมองเสื่อมมากขึ้น อัตราเด็กเกิดใหม่จะมีเพียงร้อยละ 1.3

ขณะที่คาดว่าในปี 2593 ไทยจะมีประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปี เพิ่มเป็น 16.5 ล้านคน หรือร้อยละ 27.9 ของประชากร และ แม้จะดูกันที่ประชากรไทยที่อายุมากกว่า 65 ปี มิใช่แค่ 60 ปี ประเทศไทยก็ยังจะมีสัดส่วนผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึงประมาณ 2.7 ล้านคนด้วยค่ะ

ข้อมูลนี้กำลังบอกอะไรเราคะ กำลังบอกว่า คนไทยมีแนวโน้มอายุยืนขึ้น มีลูกน้อยลง และจะอยู่คนเดียวมากขึ้นด้วยค่ะ นอกจากนี้การมีประชากรวัยทำงานลดลงก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลมากค่ะ เราจึงไม่อาจคาดหวังให้ลูกหลานมาเลี้ยงดูเราตอนแก่ได้จริงๆ นะคะ ดังนั้นการวางแผนการเงินจึงเป็น ‘วาระแห่งชาติ’ จริงๆ ค่ะ

แล้ววันนี้คุณได้ ‘วางแผนการเงิน’ แล้วหรือยัง??

ที่มาของข้อมูล นสพ.เดลินิวส์ 6 มี.ค. 2558

#CoachNI #Wealthinspirer

นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP

Mission Possible ปฏิบัติการพลิกชีวิต: หนังสือพลิกชีวิต – ช้าให้ชนะ

Mission Possible ปฏิบัติการพลิกชีวิต: หนังสือพลิกชีวิต – ช้าให้ชนะ.

Mission Possible ปฏิบัติการพลิกชีวิต: หนังสือพลิกชีวิต – ช้าให้ชนะ

ช้าให้ชนะ

คุณเชื่อหรือไม่ว่า การได้อ่านหนังสือดีๆ สักเล่ม แค่คำเพียงบางคำ หรือแค่ประโยคบางประโยคที่คุณได้จากหนังสือเล่มหนึ่งเล่มใดนั้น อาจจะเปลี่ยนชีวิตคุณไปตลอดกาลเลยก็ได้ จริงๆ ค่ะ

นิเป็นคนนึงที่ชอบอ่านหนังสือมากค่ะ สมัยเป็นเด็ก อ่านทุกอย่างที่ขวางหน้าจริงๆ ค่ะ และมักถูกคนอื่นเรียกว่าเป็น ‘หนอนหนังสือ’

สมัยที่อินเตอร์เน็ทและ Social Media ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย นิเคยอ่านหนังสือได้สูงสุดถึงปีละ 60 เล่มเลยค่ะ เฉลี่ยอ่านได้ 1 เล่มนิดๆ ต่อสัปดาห์ ไม่รวมบรรดาหนังสือการ์ตูนทั้งหลายของน้องชายนะคะ

นิมักจะพกหนังสืออย่างน้อย 1 เล่มติดกระเป๋าอยู่เสมอ หากว่างเมื่อไหร่เป็นต้องหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน ยิ่งตอนที่ทำงานอยู่ที่ ปตท.สผ. ใหม่ๆ ไม่ได้ขับรถค่ะ นั่งรถเมล์ไปทำงาน ไม่ว่าจะเป็นตอนรอรถเมล์ หรือตอนที่รถติด นิก็จะหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านอยู่เสมอ

นิเชื่อว่าการอ่านหนังสือมาเยอะมากตั้งแต่เด็กๆ มีส่วนเป็นอย่างมากที่พานิมาได้ไกลขนาดนี้ค่ะ และสามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า หนังสือดีๆ สักเล่มสามารถ ‘พลิก’ ชีวิตคุณได้จริงๆ ค่ะ

วันนี้นิก็เลยมีหนังสือที่อาจกล่าวได้ว่า เป็น 1 ในหนังสือที่ดีที่สุดที่นิเคยอ่าน (ความเห็นส่วนตัวค่ะ) มาฝากค่ะ

นิซื้อหนังสือเล่มนี้มาเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2558 และอ่านจบตอนเช้าของวันที่ 7 มิ.ย. 2558 และเมื่ออ่านจบแล้วก็ชอบมากจนอยากเอามาเล่าให้ฟังกันเลยล่ะค่ะ หนังสือนี้มีชื่อว่า ‘ช้าให้ชนะ’ เขียนโดย คุณคาซุโอะ อินาโมริ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Kyocera และบริษัท  KDDI และผู้อยู่เบื้องหลังการฟื้นคืนชีพอย่างน่าอัศจรรย์ของสายการบิน JAL

ท้าวความนิดนึง ก่อนที่จะซื้อหนังสือเล่มนี้มา นิเกิดความรู้สึกสับสนในใจอยู่พอประมาณ (เป็นความลับที่ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน 55) ถึงเส้นทางของตัวเองว่าจะก้าวเดินต่อไปอย่างไรในอนาคต นิลาออกจากงานประจำมา นับถึงสิงหาคมนี้ ก็จะครบ 4 ปีเต็มค่ะ

นิรู้สึกว่าตลอด 4 ปีที่ผ่านมา นิใชัพลังชีวิตของตัวเองไปอย่างสูงมาก เพื่อก่อร่าง สร้างความฝันของตัวเองให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ซึ่งนิก็สนุกกับงานที่ทำมาก เพราะมันคืองานที่นิรักมากๆ ค่ะ เท่าไหร่เท่ากัน ทุ่มสุดตัวเลยจริงๆ ค่ะ

แต่บางครั้ง ‘บนเส้นทางชีวิตก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ’ เสมอไปค่ะ และปีนี้ก็เป็นปีที่ท้าทายมากๆ สำหรับนิ เพราะหลายอย่างที่ทำลงไป มันกลับไม่สำเร็จอย่างที่คาด ยิ่ง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เจอความผิดหวังที่เข้ามาระลอกแล้ว ระลอกเล่า (แม้หน้าฉาก คุณอาจจะรู้สึกว่านิก็ดูประสบความสำเร็จดี แต่หลังฉากมาดูได้เลยค่ะ เต็มไปด้วยบาดแผล 555)

มีคนเคยกล่าว่า ความสำเร็จและความล้มเหลวก็เหมือนกับเหรียญที่มี 2 ด้าน หากวันนี้คุณยังไม่ประสบความสำเร็จ แปลว่าคุณยังล้มเหลวไม่มากพอ และเมื่อคุณล้มเหลว คุณต้องเรียนรู้จากความล้มเหลวนั้นด้วย – พูดง่ายแต่ทำยากนะคะ บอกเลย ยิ่งเมื่อเราล้มแล้ว ล้มอีก ล้มแล้ว ล้มอีก มันเหนื่อย มันผิดหวังจนบางครั้งมันทำให้เราอยากจะนอนอยู่เฉยๆ และไม่อยากลุกขึ้นมาอีก ซึ่งนิก็เป็นคนหนึ่งที่มีช่วงเวลาแบบนั้นเหมือนกัน

ก็เลยเป็นที่มาของการอยาก Slow life หรือเดินให้ช้าลงนั่นเองค่ะ เมื่อคิดอยากจะเดินให้ช้าลง หนังสือเล่มนี้ก็เลยเข้ามาเตะตาค่ะ แล้วก็ไม่ผิดหวังเลยจริง ๆ

หนังสือเล่มนี้ทำให้เกิดการทบทวนความหมายของชีวิตในยุคแห่งความสับสนวุ่นวายว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร ซึ่งผู้เขียนให้มุมองว่า ในความเห็นของผู้เขียน เขาเกิดมาเพื่อทำให้ตัวเองเป็นคนดีกว่าตอนที่เกิดมา และจากไปพร้อมกับจิตวิญญาณที่สะอาด บริสุทธิ์ และสูงส่ง ผู้เขียนปรารถนาที่จะใช้ชีวิตให้เต็มที่ ลิ้มรสทั้งความสุขและความเศร้า เผชิญโชคชะตาไม่ว่าจะร้ายหรือดี และใช้เวลาบนโลกใบนี้ขัดเกลาความเป็นมนุษย์ไปพร้อมๆ กับบ่มเพาะจิตใจ

เพราะเงินทองและความสำเร็จล้วนไม่จีรีงยั่งยืน ต่อให้สั่งสมไว้มากมายขนาดไหน ตายไปก็เอมันไปด้วยไม่ได้อยู่ดี จิตวิญญาณ คือสิ่งเดียวที่จะติดตัวเราไป ขณะก้าวสู่การเดินทางครั้งใหม่ – ซึ่งก็ตรงกับมุมมองของทางพระพุทธศาสนา

นอกจากนี้ตลอดทั้งเล่มผู้เขียนแสดงให้เห็นอย่างแท้จริงว่าได้ยึดหลักการที่ถูกต้อง โดยเน้นการทำประโยชน์เพื่อสังคมเป็นหลักในการทำธุรกิจ จงยืนหยัดในหลักการที่ถูกต้อง อย่าหลงไปตามกระแส แล้วก็ยังเน้นเรื่องของการทำงานหนัก เพราะไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ โดยไม่ต้องทำงานหนักค่ะ

โดยสรุปเราจะ ‘ช้าให้ชนะ’ ได้โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน Focus และรักในสิ่งที่ทำ ยึดถือหลักการของความดีงามและความถูกต้อง ทำงานหนักและมีทัศนคติที่ดี หากเจอปัญหาหรืออุปสรรคให้คิดว่าเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้ขัดเกลาตัวเอง และที่สำคัญยึดถือประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้งค่ะ

VERY RECOMMENDED หาซื้อมาอ่านกันนะคะ ^^

#CoachNI #Wealthinspirer

นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP

Mission Possible ปฏิบัติการพลิกชีวิต: ทำไมต้องวางแผนการเงิน?

Slide1

บทความในวันนี้ นิจะมาเล่าถึงความสำคัญของการวางแผนการเงินว่า

‘ทำไมต้องวางแผนการเงิน?’ กันค่ะ

เหตุผลข้อแรกเลยนะคะ เพราะชีวิตมีความไม่แน่นอนค่ะ

มีเหตุการณ์ 4 อย่างที่จะทำให้เราไปไม่ถึงเป้าหมายทางการเงินที่เราตั้งใจไว้นั่นคือ

1. จากไปก่อนวัยอันควร หรือ Die too soon

ข้อนี้นะคะหากเราเป็นหัวหน้าครอบครัว หรือมีคนข้างหลังที่เราต้องดูแล ต้องคำนึงถึงความไม่แน่นอนของชีวิตข้อนี้ให้มากๆ ค่ะ

เพราะลองคิดดูนะคะว่า หากหัวหน้าครอบครัวจากไปก่อนวัยอันควร ภรรยาและลูกหรือคนที่อยู่ข้างหลังจะสามารถดำเนินชีวิตต่อไป ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเดิมได้อย่างไร ความฝันและเป้าหมายทางการเงินของครอบครัว ก็อาจจะไม่เป็นไปตามที่คุณตั้งใจไว้ค่ะ

2. อายุยืนกว่าที่คาด หรือ Live too long

ข้อนี้ก็จะตรงกันข้ามกับข้อแรกค่ะ นั่นคือหากเรามีอายุยืนกว่าที่คาด ถ้าไม่มีการเตรียมการวางแผนเกษียณอายุ หรือเตรียมกองทุนเกษียณอายุที่มากพอ เงินอาจจะไม่พอใช้จนวันสุดท้ายของชีวิตก็เป็นได้ค่ะ

3. เกิดเจ็บไข้ได้ป่วย เกิดอุบัติเหตุ พิการทุพพลภาพ โรคร้ายแรงต่างๆ 

ทำให้ความสามารถในการหารายได้หมดลง นอกจากความสามารถในการหารายได้จะหมดลงแล้ว ยังมีภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวเพิ่มขึ้น หากไม่มีการเตรียมการไว้ คุณคิดว่าคุณจะอยู่อย่างไร

เหตุผลข้อที่สอง ก็คือ การฝากเงินไว้กับธนาคาร ไม่ตอบโจทย์เป้าหมายทางการเงินในระยะยาวอีกต่อไป

เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ถูกแสนถูก ไม่ชนะเงินเฟ้อ และยังเป็นเงินขี้เกียจอีกต่างหากค่ะ

หากวันนี้คุณไม่เริ่มวางแผนการเงิน เงินของคุณก็จะนอนนิ่งๆ (อย่างขี้เกียจ) อยู่ในธนาคาร ซึ่งจะทำให่คุณไม่สามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินในระยะยาวอย่างแน่นอน ฟันธงค่ะ

เหตุผลข้อที่สาม สินค้าการเงินมีความซับซ้อนมากขึ้น

เมื่อการฝากเงินที่ธนาคารไม่ตอบโจทย์ เราจึงจำเป็นต้องหาทางนำเงินเราไปลงทุนให้งอกเงยออกดอกออกผล

อย่างไรก็ตาม เมื่อคาดหวังที่จะได้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงขึ้น ความเสี่ยงจากการลงทุนก็สูงขึ้นตามไปด้วย

เราจึงจำเป็นต้องมาเรียนรู้เรื่องการวางแผนการเงิน และเลือกสินค้าการเงินที่ตอบโจทย์เป้าหมายทางการเงิน และระดับความเสี่ยงที่รับได้ของตัวเราด้วยค่ะ เพราะอย่าลืมนะคะว่า การลงทุนมีความเสี่ยง แต่การลงทุนในสิ่งที่เราไม่มีความรู้นั้นเสี่ยงที่สุดค่ะ

เหตุผลข้อที่สี่ เป้าหมายทางการเงินต่างๆ 

แม้เงินจะไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต แต่ชีวิตเริ่มต้นที่เงิน และปฏิเสธไม่ได้เลยค่ะว่าทุกเป้าหมายของชีวิตต้องใช้เงิน และคนเราก็ไม่ได้มีเพียงเป้าหมายเพียงข้อเดียวเสียด้วยสิ หากเรามีเงินที่จำกัด จะวางแผนจัดการเงินของเราอย่างไร ให้สามารถตอบโจทย์ทุกเป้าหมายของชีวิตได้ ดังนั้นเราจึงต้องรีบมาวางแผนการเงินของเรากันค่ะ

เหตุผลข้อสุดท้าย โครงสร้างประชาการเปลี่ยนแปลงไป

เรากำลังเข้าสู่สังคมคนสูงวัยกันแล้วค่ะ หรือที่เรียกว่าเข้าสู่ Aging society

แนวโน้มคนเราจะมีอายุยืนขึ้น คนจะแต่งงานช้าลง จะมีลูกน้อยลง จะเป็นโสดมากขึ้น ดังนั้นเราไม่สามารถคาดหวังให้ลูกหลานมาเลี้ยงดูเราได้ยามแก่ชรานะคะ

นอกจากนี้ความอายุยืนอาจจะตามมาซึ่งค่าใช้จ่ายในยามเกษียณที่มากขึ้น หากเราไม่มีการวางแผนการเงินตั้งแต่วันนี้ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าแก่ไปเราจะมีเงินพอใช้จยวันสุดท้ายของชีวิตมั้ย จะเป็นภาระของคนอื่นหรือเปล่า??

ทั้งหลายทั้งปวงจึงเป็นเหตุผลว่า ‘ทำไมต้องวางแผนการเงิน?’

แล้วคุณล่ะค่ะ วันนี้คุณวางแผนการเงินแล้วหรือยัง??

สามารถพูดคุยเรื่องราวการวางแผนการเงินได้ที่ http://www.facebook.com/NipapunTalk ค่ะ

#CoachNi #Wealthinspirer

#NipapunTalk