มาวางแผนเกษียณอายุกันเถอะ (3)

มาถึงตอนนี้ก็เป็นขั้นสุดท้ายของการวางแผนเกษียณอายุแล้วนะคะ เรามาดูต่อกันเลยค่ะว่าขั้นที่ 5  ของการวางแผนเกษียณอายุเราต้องทำอย่างไรบ้าง

สำหรับใครที่ยังไม่ได้อ่านตอนที่ 1 และ  2 สามารถอ่านบทความย้อนหลังได้ที่

https://nipapuntalk.wordpress.com/2015/09/01/

https://nipapuntalk.wordpress.com/2015/09/02

5. วางแผนการออมและการลงทุนในปัจจุบัน จากประมาณการค่าใช้จ่ายและแหล่งเงินได้เพื่อการเกษียณในข้อ 3 และข้อ 4 ทำให้เราทราบว่าเงินเพื่อการเกษียณอายุของเรายังขาดอยู่อีก 8,826,448 บาท มีตารางสรุปการคำนวณให้ดูกันอีกรอบค่ะ

กองทุนเกษียณอายุ (3)

ในขณะที่เราเหลือระยะเวลาการลงทุนอีก 27 ปี ถ้าเราสามารถหาการลงทุนที่ให้อัตราผลตอบแทน 7% ต่อปี (ซึ่งไม่น่าที่จะเป็นเรื่องที่ยากจนเกินไปในการหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทน 7% ต่อปีนะคะ) เราก็จะสามารถคำนวณได้ว่าเราต้องเก็บเงินเพื่อนำไปลงทุนต่อปีแบบเงินงวดรายปีเท่ากันเป็นจำนวนเท่าใด

ซึ่งในตัวอย่างนี้สามารถคำนวณได้ว่าจำนวนเงินที่คุณต้องการลงทุนต่อปีแบบเงินงวดรายปีเท่ากันอยู่ที่ 118,502 บาทต่อปีหรือเท่ากับ 9,876 บาทต่อเดือน ในกรณีที่คุณคิดว่าการเก็บเงินเพิ่มอีกเดือนละประมาณหนึ่งหมื่นบาทเป็นเรื่องที่หนักและเกินกำลัง อีก 1 ทางเลือกที่เป็นไปได้ก็คือคุณเริ่มต้นเก็บเงินเพิ่มเดือนละ 5,931 บาทหรือปีละ 71,169 บาทแล้วเมื่อคุณเติบโตก้าวหน้า รายได้ของคุณก็จะเพิ่มขึ้นไปตามลำดับ นิก็ขอให้คุณเพิ่มการสะสมเงินต่อปีอีกปีละ 5% และเพิ่มไปเรื่อยๆ จนครบ 27 ปีคุณก็จะมีเงินเพื่อการเกษียณอายุในส่วนที่ขาดอยู่เท่ากับการเก็บเงินแบบเท่าๆ กันทุกปีค่ะ รายละเอียดการคำนวณดังแสดงค่ะ

กองทุนเกษียณอายุ (3.1) 

การคำนวณดังตารางอาจดูซับซ้อนไปสักนิดนะคะ เนื่องจากเรามีการคำนึงผลของเงินเฟ้อและค่าของเงินตามเวลาเข้าไปในสูตรคำนวณด้วยค่ะ โดยที่การคำนวณในขั้นนี้เราจะใช้การคำนวณมูลค่าอนาคตของเงินงวดค่ะ โดยเรารู้ว่า FV = 8,826,448, i = 7%, n = 27 เราจะคำนวณหา PMT หรือเงินงวดที่เราต้องเก็บเท่าๆ กันทุกปีได้ (เราสามารถใช้ฟังก์ชัน PMT ใน Excel เพื่อช่วยในการคำนวณก็ได้นะคะ หรือจะใช้ financial calculator หรือ  เครื่องคิดเลขทางการเงิน ซึ่งเดี๋ยวนี้มีทำเป็น application ให้ใช้ง่ายๆ ด้วยค่ะ

แม้การคำนวณอาจจะดูยากไปสักนิด แต่ที่นินำมาเสนอในที่นี้เพื่ออยากให้เกิดแรงบันดาลใจค่ะว่าเรื่องของการเก็บเงิน และวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณอายุไม่ได้เป็นเรื่องยากกว่าที่คิด ยิ่งเรามีระยะเวลาในการลงทุนที่ยาวนานมากพอ ยิ่งกลายเป็นเรื่องง่ายมากขึ้น เพราะเราไม่จำเป็นต้องใช้เงินต้นที่เยะมาก นอกจากนี้เรายังสามารถนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงมากขึ้นได้ด้วยค่ะดังนั้นเชื่อนิเถอะค่ะว่า ออมก่อน รวยกว่าเป็นเรื่องที่จริงที่สุดเลยค่ะ

สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการวางแผนการเงินกับนิได้ที่ nipapuntalk@hotmail.com ค่ะ หรือ ที่ Official Line Account: @nipapuntalk (อย่าลืม เติม @ ไว้ข้างหน้า nipapuntalk ด้วยค่ะ) แล้วพบกันในตอนต่อไปค่ะ ^^

ใส่ความเห็น