มูลค่าของเงินตามเวลา – Time Value of Money (3)

เรามาว่าต่อกันถึงเรื่องมูลค่าของเงินตามเวลากันอีกสักตอนนะคะ ใครยังไม่ได้อ่านย้อนไปอ่านตอนแรกและตอนที่ 2ได้ค่ะที่

https://nipapuntalk.wordpress.com/2015/08/29/

https://nipapuntalk.wordpress.com/2015/08/30/

ในตอนนี้เราจะมาพูดถึงมูลค่าอนาคตของเงินเท่ากันทุกงวด ( Future Value of an Annuity) และ มูลค่าปัจจุบันของเงินเท่ากันทุกงวด (Present Value of an Annuity) กันค่ะ

3. มูลค่าอนาคตของเงินเท่ากันทุกงวด, Future Value of an Annuity เป็นวิธีคำนวณมูลค่าของเงินในอนาคตที่เกิดจากการฝากเงินจำนวนเท่าๆ กันทุกงวดค่ะ เช่น ถ้าคุณต้องการฝากเงินปีละ 15,000 บาทเท่ากันทุกปี และได้อัตราดอกเบี้ยที่ 6% ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี คุณอยากจะทราบมั้ยคะว่า ณ สิ้นปีที่ 5 เงินที่คุณฝากไว้ทั้งหมดจะโตเป็นมูลค่าเท่าไหร่ สามารถแสดงการคำนวณได้ดังนี้ค่ะ

Slide1

จากภาพ คุณจะเห็นว่า การคำนวณมูลค่าอนาคตของเงินเท่ากันทุกงวด ก็คือ ผลรวมของการคำนวณมูลค่าอนาคตของเงินก้อนที่นำไปฝากในแต่ละปีนั่นเองค่ะ

เหมือนเดิมค่ะ ดิฉันก็มีวิธีคำนวณแบบง่ายๆ มาฝากด้วยค่ะ โดยการเปิดตาราง Future Value Interest Factor of an Annuity ตามตารางที่ 3 ค่ะ

ตารางที่ 3 มูลค่าอนาคตของเงินเท่ากันทุกงวด, Future Value Interest Factor of an Annuity, FVIFA

Slide2

ดังนั้นหากคุณอยากใช้ตัวเลขจากตารางที่ 3 มาใช้ในการคำนวณมูลค่าอนาคตของเงินเท่ากันทุกงวด สามารถคำนวณได้ตามสมการที่ 5 ดังนี้ค่ะ

Future Value of an Annuity = Annual Payment x Future Value Interest Factor of an Annuity

หรือ FVn    =  PMT x Future Value Interest Factor of an Annuity ….. (5)       

จากโจทย์เดิม คือ การฝากเงินปีละ 15,000 บาท และได้อัตราดอกเบี้ยที่ 6% ต่อปี หากเราใช้ตารางที่ 3 จะสามารถคำนวณได้ดังนี้ โดย n = 5 และ i = 6% จะได้ตัวเลข 5.6371 เมื่อนำมาแทนค่าในสมการที่ (5) จะได้ผลการคำนวณดังนี้

FVn=  15,000 x 5.6371 = 84,556

4. มูลค่าปัจจุบันของเงินเท่ากันทุกงวด, Present Value of an Annuity คือมูลค่าปัจจุบันรวมของเงินที่จะได้รับหรือจ่ายออกไป งวดละเท่าๆ กันในอนาคต หรือ ผลบวกของมูลค่าปัจจุบันของเงินที่ได้รับหรือจ่ายออกไปในแต่ละงวดในอนาคตนั่นเอง เช่น ถ้าคุณต้องการที่จะทราบว่าเงินที่คุณจะได้รับ 15,000 บาททุกสิ้นปีในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยมีอัตราคิดลดที่ 6% จะมีมูลค่าปัจจุบันที่เท่าไหร่ สามารถแสดงการคำนวณได้ดังนี้ค่ะ

Slide3

เหมือนเดิมค่ะ ดิฉันก็มีวิธีคำนวณแบบง่ายๆ มาฝากด้วยค่ะ โดยการเปิดตาราง Present Value Interest Factor of an Annuity ตามตารางที่ 4 ค่ะ

ตารางที่ 4 มูลค่าปัจจุบันของเงินเท่ากันทุกงวด, Present Value Interest Factor of an Annuity, PVIFA

Slide4

ดังนั้นหากคุณอยากใช้ตัวเลขจากตารางที่ 4 มาใช้ในการคำนวณมูลค่าอนาคตของเงินเท่ากันทุกงวด สามารถคำนวณได้ตามสมการที่ 6 ดังนี้ค่ะ

Present Value of an Annuity = Annual Payment x Present Value Interest Factor of an Annuity

หรือ PVn    =  PMT x Present Value Interest Factor of an Annuity …… (6)       

จากโจทย์เดิม คือ การได้รับเงินทุกสิ้นปี ปีละ 15,000 บาท ที่อัตราคิดลด 6% ต่อปี หากเราใช้ตารางที่ 4 จะสามารถคำนวณได้ดังนี้ โดย n = 5 และ i = 6% จะได้ตัวเลข 4.212 เมื่อนำมาแทนค่าในสมการที่ (6) จะได้ผลการคำนวณดังนี้

PVn=  15,000 x 4.212 = 63,180

จากการคำนวณทั้งหมด คุณจะเห็นว่าการมีการลงทุนที่ถูกต้อง จะทำให้เงินของคุณเติบโตและงอกเงยได้อย่างไร ซึ่งในตอนต่อๆ ไป นิจะมาเล่าถึง application ของการคำนวณมูลค่าเงินตามเวลากัน ต้องติดตามค่ะ ^^

สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการวางแผนการเงินกับนิได้ที่ nipapuntalk@hotmail.com ค่ะ หรือ ที่ Official Line Account: @nipapuntalk (อย่าลืม เติม @ ไว้ข้างหน้า nipapuntalk ด้วยค่ะ) แล้วพบกันในตอนต่อไปค่ะ ^^

มูลค่าของเงินตามเวลา – Time Value of Money (2)

เรามาว่าต่อกันถึงเรื่องมูลค่าของเงินตามเวลากันอีกสักตอน 2 ตอนนะคะ เพราะนิคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญพื้นฐานที่ทุกคนต้องรู้ ก่อนเริ่มต้นวางแผนการเงินจริงๆ ค่ะ ใครยังไม่ได้อ่านตอนแรก ย้อนไปอ่านได้ที่

https://nipapuntalk.wordpress.com/2015/08/29/

ตอนที่แล้วเราพูดถึงเรื่องดอกเบี้ยทบต้นและมูลค่าอนาคตของเงินก้อนเดียวกันไปแล้ว วันนี้เราจะมาพูดถึงมูลค่าปัจจุบันของเงินก้อนเดียว (Present Value) กันค่ะ

2. มูลค่าปัจจุบัน (Present Value) คือ มูลค่าปัจจุบันของเงินในอนาคตภายใต้ช่วงเวลาและอัตราผลตอบแทนที่ได้กำหนดไว้ Present Value มีหลักแนวคิดว่าเงินในปัจจุบันมีค่ามากกว่าเงินในอนาคต เช่น เงิน 1 ล้านบาทวันนี้มีค่ามากกว่า เงิน 1 ล้านบาทในอีกหลาย ๆ ปีข้างหน้า เหตุผลก็คือเงินในวันนี้สามารถนำไปลงทุนได้เลยทันที ซึ่งจะสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นมา เงินในปัจจุบันจึงมีมูลค่ามากกว่าเงินในอนาคต

สูตรคำนวณ Present Value

PV= FV/(1 + i)n   ……(3)

คุณจะเห็นว่าสูตรการคำนวณมูลค่าปัจจุบันก็เป็นส่วนกลับ หรือเป็นการย้ายข้างของสูตรการคำนวณมูลค่าอนาคต (สมการที่ 2) นั่นเอง

[ซึ่งสมการที่ (2) อยู่ในตอนที่แล้วดังนี้     FV= PV(1 + i)n  ….(2)]

Slide1

ตัวอย่างการคำนวณ Present Value

หากนิบอกว่าจะให้เงินคุณเป็นจำนวน 10 ล้านบาท ในอีก10 ปีข้างหน้า มันก็คงฟังดูเหมือนว่าคุณจะได้เงินเป็นจำนวน 10 ล้านบาทจริงๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่ค่ะ

มูลค่าของเงิน 10 ล้านบาทในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเท่ากับ 8.2 ล้านบาทในปัจจุบัน หากคิดที่อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี แปลว่า หากคุณนำเงินต้นจำนวน 8.2 ล้านบาทในวันนี้ไปฝากที่ธนาคารโดยได้ดอกเบี้ยอยู่ที่ 2% ต่อปี เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี เงินดังกล่าวก้อนนี้จะเติบโตเป็น 10 ล้านบาท (รวมดอกเบี้ย และผลของการทบต้นทบดอกด้วยค่ะ) ดังนั้นเงิน 10 ล้านบาทในอีก 10 ปีข้างหน้าจึงไม่ได้มีค่าเท่ากับเงิน 10 ล้านบาทในปัจจุบันค่ะ

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ หากอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 4% ต่อปี อำนาจซื้อของเงิน 10 ล้านบาทในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเหลือเพียง 6.76 ล้านบาทเมื่อคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันดังนั้นเงิน 10 ล้านบาทจึงไม่ได้มีมูลค่าเงิน 10 ล้านบาทเมื่อเวลาผ่านไป ขึ้นอยู่กับอัตราผลตอบแทนที่เราหาได้ และอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นด้วยค่ะ

วิธีการคำนวณตามสูตรข้างต้น สามารถแสดงได้ดังนี้

PV = 10,000,000 / (1.02)^10 = 8,203,483.00

PV = 10,000,000 / (1.04)^10 = 6,755,641.69

เหมือนเดิมค่ะ เพื่อความง่ายในการคำนวณ จากสมการ (3) สามารถแทนค่าที่ i และ n ใดๆ ก็จะได้ factor ตัวคูณของ 1/(1 + i)n ซึ่งสามารถแสดงค่าได้ตามตารางที่ 2 ค่ะซึ่งเราจะเรียกว่า Present Value Interest Factor ค่ะ

ตารางที่ 2 มูลค่าปัจจุบันของเงิน $1 (เงินก้อนเดียว), Present Value Interest Factor, 1/(1 + i)n

Slide2

ดังนั้นหากคุณอยากใช้ตัวเลขจากตารางที่ 2 มาใช้ในการคำนวณมูลค่าปัจจุบันของเงินก้อน สามารถคำนวณได้ตามสมการที่ 4 ดังนี้ค่ะ

PV = FV x Present Value Interest Factor …..(4)

จากตารางที่ 2 ที่ n = 10 (ดูที่แนวตั้ง) และ ที่ i = 4% (ดูที่แนวนอน) เมื่อลากลงมาคุณจะได้ตัวเลข 0.67556 เมื่อเอาตัวเลขนี้มาคำนวณตามสมการ (4) ได้ผลลัพธ์ดังนี้

PV = 10,000,000 x 0.67556 = 6,755,600 ซึ่งเท่ากับการแทนค่าลงไปที่สมการ (3) ข้างต้นค่ะ

คราวหน้าเราจะมาคำนวณมูลค่าอนาคตและมูลค่าปัจจุบันของเงินงวดกันบ้างค่ะ ต้องติดตามค่ะ ^^

สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการวางแผนการเงินกับนิได้ที่ nipapuntalk@hotmail.com ค่ะ หรือ ที่ Official Line Account: @nipapuntalk (อย่าลืม เติม @ ไว้ข้างหน้า nipapuntalk ด้วยค่ะ) แล้วพบกันในตอนต่อไปค่ะ ^^

มูลค่าของเงินตามเวลา – Time Value of Money

กลับมาพบกันอีกครั้งกับบทความทางการเงินที่นิคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านนะคะ หลังจากที่ไม่ได้ post มา 3 – 4 วัน คิดถึงการเขียนบทความมากๆ เลยค่ะ (และแน่นอนคิดถึงท่านผู้อ่านทุกท่านด้วยค่ะ)

สืบเนื่องจากบทความ มหัศจรรย์กาแฟ 1 แก้วที่จะเปลี่ยนชีวิตคุณไปตลอดกาล ก็มีคนถามนิกันมาเยอะเลยค่ะว่าไอ้การคำนวณดอกเบี้ยทบต้นเมื่อเวลาผ่านไปหลายๆ ปี คำนวณกันยังไง นิเลยถือโอกาสมาเขียนบทความอธิบายการคำนวณให้ค่ะ

ก่อนจะไปรู้ถึงวิธีการคำนวณ อีก 1 concept ที่สำคัญที่คุณต้องรู้ก่อนที่จะเริ่มวางแผนการลงทุนใดๆ ก็ตาม นั่นก็คือเรื่องของมูลค่าของเงินตามเวลาค่ะ

มูลค่าของเงินตามเวลา หรือ Time Value of Money มีหลักแนวคิดว่าเงินในปัจจุบันมีมูลค่าที่แตกต่างจากเงินในอนาคตที่จำนวนเงินและสกุลเงินเดียวกัน เพราะว่าเงินในอนาคตนั้น ต้องรวมไปถึงดอกเบี้ยที่ควรได้รับและผลของอัตราเงินเฟ้อเข้าไปด้วย โอกาสของการได้รับดอกเบี้ยหรือผลตอบแทน และอัตราเงินเฟ้อที่ทำให้ข้าวของราคาแพงขึ้นจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อมูลค่าของเงิน มูลค่าของเงินตามเวลา จึงเป็นแนวคิดที่ว่ามูลค่าของเงินจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามระยะเวลานั่นเองค่ะ

หรืออีกนัยหนึ่ง หากคุณเก็บเงินไว้กับตัวไว้เฉยๆ ไม่ได้นำไปลงทุนแต่อย่างใด เมื่อเวลาผ่านไป มูลค่าของเงินย่อมลดลงตามภาวะเงินเฟ้อ ดังนั้น มูลค่าของเงินในอนาคต จึงน้อยกว่า มูลค่าของเงินในปัจจุบันที่จำนวนเงินเท่ากันค่ะ สรุปได้ว่าเงินในแต่ละเวลามีค่าที่ไม่เท่ากันค่ะ

แล้วทำไมเราต้องมาเรียนรู้เรื่องมูลค่าเงินตามเวลากันคะ นั่นก็เป็นเพราะว่า การลงทุนของคุณจะขึ้นอยู่กับค่าของเงินตามเวลาเลยค่ะ ถ้าคุณบริหารจัดการของคุณได้ดี มีการลงทุนที่ถูกต้องและเหมาะสม ระยะเวลาการลงทุนที่ยาวนานมากพอ จะทำให้เงินของคุณเติบโตเป็นหลายเท่า (หรืออาจจะเป็นหลายร้อยเท่า) จนคุณนึกไม่ถึงเลยล่ะค่ะ

การคำนวณมูลค่าของเงินตามเวลา

1. ดอกเบี้ยทบต้น (Compound Interest) และมูลค่าอนาคต (Future Values)

ดอกเบี้ยทบต้น หรือ Compound interest คือ การคำนวณดอกเบี้ยโดยการนำดอกเบี้ยของแต่ละงวดมารวมเป็นเงินต้นของงวดต่อ ๆ ไปในอนาคต (ทบต้น) ทำให้ดอกเบี้ยที่จะได้รับในงวดถัด ๆ ไปเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ (อัตราดอกเบี้ยเท่าเดิม แต่ผลตอบแทนเพิ่มสูงขึ้น) เพราะดอกเบี้ยของงวดที่ผ่านมาได้ถูกรวมอยู่ในเงินต้น จึงเป็นที่มาของคำว่า ดอกเบี้ยทบต้น

ความมหัศจรรย์ของ ดอกเบี้ยทบต้น คือ เงินต้นที่จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยอัตโนมัติ และเมื่อเงินต้นเพิ่มขึ้น ดอกเบี้ยที่ได้รับจึงเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนไปด้วย โดย 3 ปัจจัยที่สำคัญคือ อัตราดอกเบี้ย เวลา และ การนำดอกเบี้ยมาลงทุนเพิ่ม (ทบต้น) ยิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ ผลตอบแทนก็จะยิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ ค่ะ

มูลค่าอนาคต (Future Value) คือ มูลค่าของเงินในอนาคตภายใต้ช่วงเวลาและอัตราผลตอบแทนที่ได้กำหนดไว้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณนำเงิน 100 บาทไปฝากธนาคาร ซึ่งเงิน 100 บาทของคุณ ทางภาษาการเงิน เราจะเรียกว่า มูลค่าปัจจุบัน (Present Value) และได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ 6% ต่อปี เมื่อสิ้นปีที่ 1 คุณจะได้ดอกเบี้ยคิดเป็นเงิน 6 บาทจากเงินต้น 100 บาท กลายเป็นเงิน 106 บาท ซึ่ง 106 บาทที่คุณได้นั้น ทางภาษาการเงิน เราจะเรียกว่า มูลค่าอนาคต (Future Value) ค่ะ สามารถสรุปเป็นสูตรได้ดังนี้

Future Value (FV1) = Present Value (PV) x (1 + i)

หรือ FV1= PV(1 + i)     —- (1)

จากตัวอย่างการฝากเงิน 100 บาท ได้อัตราดอกเบี้ย 6% รวมเป็นเงินที่จะได้สิ้นปี 106 บาทนั้น หากคุณนำดอกเบี้ยที่ได้ 6 บาทไปลงทุนต่อ (Reinvest) คุณคิดว่าเมื่อถึงสิ้นปีที่ 2 เงินคุณจะโตเป็นเท่าไหร่คะ

ณ ต้นปีที่ 2 เงินตั้งต้นของคุณจะเป็น 106 บาท และเมื่อได้รับดอกเบี้ย 6% ถึงสิ้นปีที่ 2 เงินของคุณจะโตเป็น 112.36 บาทค่ะ (106 x 1.06 = 112.36)

แล้วถ้าคุณยังคงฝากเงิน และรับดอกเบี้ยที่ 6% ต่อปีไปเรื่อยๆ (โดยไม่ถอนดอกเบี้ยออกมาใช้เลย และลงทุนต่อไปเรื่อยๆ) คุณคิดว่า เมื่อผ่านไป 3 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี คุณคิดว่าเงินของคุณจะโตเป็นเท่าไหร่คะรูปต่อไปนี้ นิจะแสดงให้เห็นพลังของดอกเบี้ยทบต้นทบดอก ดังรูปที่ 1 ค่ะ

รูปที่ 1 ผลของดอกเบี้ยทบต้น ที่อัตราดอกเบี้ย 6%

Slide1

คุณจะเห็นว่า เมื่อเรามีระยะเวลาการฝากเงิน (การลงทุน) ที่ยาวนานและมีการลงทุนต่อ (Reinvest) ผลของดอกเบี้ยของเงินต้น และดอกเบี้ยของดอกเบี้ยจะโตขึ้นเรื่อยๆ จนคุณคาดไม่ถึงเลยค่ะ และนี่ล่ะค่ะ ที่เรียกว่า พลังของดอกเบี้ยทบต้น

ดังนั้นในการคำนวณมูลค่าอนาคตของเงินก้อนเดียวในปัจจุบัน ที่อัตราผลตอบแทน i เปอร์เซ็นต์ เมื่อเวลาการออมหรือการลงทุนผ่านไป n ปี จะเป็นดังนี้ (ภาพข้างบนก็เกิดจากการคำนวณด้วยสูตรนี้ค่ะ)

FV1= PV(1 + i)n     —- (2)

เพื่อความง่ายในการคำนวณ จากสมการ (2) สามารถแทนค่าที่ i และ n ใดๆ ก็จะได้ factor ตัวคูณของ (1 + i)n ซึ่งสามารถแสดงค่าได้ตามตารางที่ 1 ค่ะ ซึ่งเราจะเรียกว่า Future Value Interest Factor ค่ะ

ตารางที่ 1 มูลค่าอนาคตของเงิน $1 (เงินก้อนเดียว), Future Value Interest Factor, (1 + i)n

Slide2

จากตารางที่ 1 ที่ n = 10 (ดูที่แนวตั้ง) และ ที่ i = 6% (ดูที่แนวนอน) เมื่อลากลงมาคุณจะได้ตัวเลข 1.79085 เมื่อเอาตัวเลขนี้มาคำนวณตามสมการ (2) ได้ผลลัพธ์ดังนี้

FV = PV x Future Value Interest Factor

FV = 100 x 1.79085 = 179.08

ซึ่งคุณจะเห็นว่าเป็นตัวเลขเดียวกันที่แสดงในรูปที่ 1 ค่ะ และนี่ล่ะค่ะ เป็นวิธีการคำนวณมูลค่าอนาคตอย่างง่ายๆ

ข้อสังเกต

จากตารางที่ 1 คุณจะเห็นว่า เมื่อได้อัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้น ตัวคูณก็จะมีค่าสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ หากคุณมีระยะเวลาลงทุนที่ยาวมากพอ เช่น 40 ปี ตัวคูณจะเพิ่มค่าเป็นหลายเท่าเลยล่ะค่ะ (ให้คุณลองดูค่าในตารางที่ n = 10, 20, 30 และ 40 ปีเปรียบเทียบกันค่ะ)

ปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เงินของคุณเติบโต งอกเงยก็คือ อัตราผลตอบแทนคาดหวังที่ได้ และ เวลา ค่ะ ดังนั้นหากอยากประสบความสำเร็จทางการเงิน จงเชื่อมั่นเรื่องของการลงทุนระยะยาวค่ะ

ในตอนต่อไป เราจะมาคุยกันต่อถึงการคำนวณมูลค่าเงินตามเวลาในแบบอื่นๆ ค่ะ ต้องติดตาม ^^

สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการวางแผนการเงินกับนิได้ที่ nipapuntalk@hotmail.com ค่ะ หรือ ที่ Official Line Account: @nipapuntalk (อย่าลืม เติม @ ไว้ข้างหน้า nipapuntalk ด้วยค่ะ) แล้วพบกันในตอนต่อไปค่ะ ^^

มาวางแผนก่อนลงทุนกันเถอะ

นิเชื่อว่าเมื่อติดตามนิมาเรื่อยๆ จนถึงบทความนี้ หลายคนคงอยากจะเริ่มลงทุนกันแล้วใช่มั้ยคะ ก่อนที่จะไปลงทุน คุณควรมีการวางแผนการลงทุนที่ดีก่อนค่ะ

Slide1

จุดเริ่มต้นในการวางแผนการลงทุน เริ่มจาก รู้จักตัวเองคุณควรถามตัวเองให้แน่ใจก่อนว่า เป้าหมายการลงทุนของคุณคืออะไร เช่น ลงทุนเพื่อบั้นปลายชีวิต เพื่อลดหย่อนภาษี เพื่อเอาชนะเงินเฟ้อ เพื่อทำกำไรหรือเพื่อทำตามความฝัน จากนั้นค่อยพิจารณา เงื่อนไขในการลงทุน ว่าคุณรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน ต้องการผลตอบแทนเท่าไหร่ มีเงินลงทุนมากน้อยเพียงใด เงินนั้นเป็นเงินเย็น (ที่ไม่ใช่ เงินเยน) หรือไม่ หรือมีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาอย่างไร เพราะสิ่งเหล่านี้แหละค่ะที่จะตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดีว่า ทางเลือกการลงทุนแบบไหนที่จะเหมาะสมกับคุณมากที่สุดค่ะ

เมื่อรู้จักตัวเองมากขึ้นแล้ว เรื่องถัดมาที่เราต้องมาทำความรู้จักก็คือ รู้จักเครื่องมือ คำว่า เครื่องมือในที่นี้หมายถึง ทางเลือกในการลงทุนนั่นเองค่ะ ยิ่งทุกวันนี้มีทางเลือกในการลงทุนหลากหลายประเภท ทั้งหุ้นสามัญ พันธบัตร หุ้นกู้ กองทุนรวม ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ ลงทุนทั้งในและนอกประเทศ และอื่นๆ อีกมากมาย แถมแต่ละประเภทต่างก็มีรายละเอียดและความซับซ้อนที่แตกต่างกันออกไปอีกต่างหาก

ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณสมบัติเฉพาะตัว ความเสี่ยง และผลตอบแทน ตลอดจนข้อดีข้อเสียของทางเลือกต่างๆ จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้คุณจัดสรรเงินลงทุนได้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่เหนือสิ่งอื่นใด จริตในการลงทุนและระดับความเสี่ยงที่รับได้ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เอาเป็นว่า เลือกลงทุนในแบบที่คุณพอใจก็แล้วกันเพราะนั่นคือเงินของคุณ คุณจึงต้องใส่ใจในทุกรายละเอียดค่ะ

สุดท้าย นอกจากรู้จักตัวเองและรู้จักเครื่องมือในการลงทุนแล้ว ก็ต้อง รู้จักจังหวะลงทุนด้วย เพราะการรู้และเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การเมือง สังคม จิตวิทยามวลชน หรือปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อทิศทางการลงทุนจะทำให้คุณสามารถกำหนดกลยุทธ์การลงทุนในภาวะตลาดที่แตกต่างกัน รวมถึงสามารถโยกย้าย เงินลงทุนไปยังทางเลือกอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างเหมาะสมด้วย

ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มลงทุน คำถามแรกที่คุณควรจะตอบตัวเองให้ได้ก่อนก็คือ เป้าหมายการลงทุนของคุณคืออะไรและ

ฝากทิ้งท้ายไว้อีกนิดนะคะกับประโยคยอดฮิตที่ว่า การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน

สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการวางแผนการเงินกับนิได้ที่ nipapuntalk@hotmail.com ค่ะ หรือ ที่ Official Line Account: @nipapuntalk (อย่าลืม เติม @ ไว้ข้างหน้า nipapuntalk ด้วยค่ะ) แล้วพบกันในตอนต่อไปค่ะ ^^

Port การลงทุน vs. อัตราผลตอบแทนคาดหวัง

ถึงตอนนี้หลายท่านคงรอที่จะอ่านบทความของนิอย่างใจจดใจจ่อแล้ว ว่าแล้วอัตราผลตอบแทนคาดหวังที่ 10% ต่อปีจะหาได้ยังไง

นิเลยมีตัวอย่างการจัด Port การลงทุน vs. อัตราผลตอบแทนคาดหวังมาฝากกันค่ะ

อันนี้เป็นภาพรวมก่อนนะคะ เพื่อให้เห็นไอเดียของการจัด Port การลงทุนและการทำ  Asset Allocation ส่วนรายละเอียดเรื่องของการวางแผนการเงิน การวางแผนการลงทุน รวมไปถึงการพิจารณาเลือกลงทุนสินค้าทางการเงินประเภทต่างๆ นิจะค่อยร้อยเรียงเรื่องราว และมาเล่าสู่กันฟังในตอนต่อๆ ไปค่ะ โปรดติดตามค่ะ

Slide1

ดังนั้นจากตาราง ถ้าคุณเป็นคนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง  Port การลงทุนที่เหมาะสมคือ Port 50:50 โดยลงทุนในตราสารเงิน ตราสารหนี้ประมาณ 50% และลงในสินทรัพย์เสี่ยงประมาณ 50% (โดยเป็นหุ้นประมาณ 40% และทองคำหรือสินทรัพย์ทางเลือกประมาณ 10%) จะได้อัตราผลตอบแทนคาดหวังที่ประมาณ 11%

นอกจากนี้มีตัวอย่างการเลือกลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ว่าควรจะลงทุนในอะไรบ้างมาฝากด้วยค่ะ

Slide2

เอา Port การลงทุนระดับความเสี่ยงต่ำและความเสี่ยงปานกลางไปลองศึกษาดูก่อนนะคะ หากยังไม่มีความรู้เรื่องการลงทุนมาก่อนเลย ควรจะเริ่มจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่ยังไม่เสี่ยงมาก และในระหว่างนี้สิ่งที่คุณต้องทำเป็นอันดับต้นๆ เลยก็คือการลงทุนให้กับการเรียนรู้ ต้องศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับการวางแผนการเงินให้มากค่ะ

เพราะอย่าลืมว่าการลงทุนที่เสี่ยงที่สุด ก็คือ การลงทุนในสิ่งที่คุณไม่มีความรู้ค่ะ

ทิ้งท้ายขอใส่ Disclaimer ไว้หน่อยนึง ดังนี้

1. อัตราผลตอบแทนที่คาดหวังมาจากค่าเฉลี่ยผลตอบแทนย้อนหลัง 15 ปี

2. ผลตอบแทนในอดีตไม่ได้การันตีผลตอบแทนในอนาคต

3. เป็นเพียงตัวอย่างการจัด port การลงทุน หากสนใจลงทุนต้องศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุนค่ะ    

สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการวางแผนการเงินกับนิได้ที่ nipapuntalk@hotmail.com ค่ะ หรือ ที่ Official Line Account: @nipapuntalk (อย่าลืม เติม @ ไว้ข้างหน้า nipapuntalk ด้วยค่ะ) แล้วพบกันในตอนต่อไปค่ะ ^^

มหัศจรรย์กาแฟ 1 แก้วที่จะเปลี่ยนชีวิตคุณไปตลอดกาล

เราทิ้งท้ายกันไปในตอนที่แล้วว่า ก่อนจะเริ่มไปลงทุนได้นั้น คุณต้องมี เงินออมก่อนค่ะ แล้วนิก็บอกให้คุณเริ่มต้นออมเงินที่ขั้นต่ำประมาณ 10% ของรายได้

ใครคิดว่า การออมเงินให้ได้ 10% ของรายได้เป็นเรื่องที่ยากบ้างคะ แล้วใครที่คิดว่าออมเงินได้แค่นี้จะเอาไปทำอะไรได้ หรือใครที่ตอบคำถามเรื่องอิสรภาพทางการเงินเมื่อตอนก่อนว่า เป็นเรื่องไร้สาระ เป็นไปไม่ได้ หรือเป็นไปได้แต่ยากมาก (อ่านย้อนหลังได้ที่ ใครฝันอยากมีอิสรภาพทางการเงินบ้าง ยกมือขึ้น) เมื่ออ่านถึงตอนนี้คุณอาจต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่แล้วค่ะ เพราะนิจะแสดงให้คุณเห็นว่า

อิสรภาพทางการเงิน ไม่ได้ยากอย่างที่คิดค่ะจริงๆ แล้วมันไม่สำคัญหรอกว่าคุณมีรายได้เท่าไหร่ สิ่งสำคัญอยู่ที่คุณเก็บออมเงินได้เท่าไหร่ และคุณมีการบริหารจัดการเงินในกระเป๋าของคุณอย่างไรต่างหาก เชื่อนิมั้ยคะ

เหตุผลที่นิตั้งชื่อตอนนี้ว่า มหัศจรรย์กาแฟ 1 แก้วที่จะเปลี่ยนชีวิตคุณไปตลอดกาลนิไม่ได้หมายความว่าจะให้คุณไปเปิดร้านกาแฟหรืออะไรหรอกนะคะ แต่นิจะแสดงให้คุณเห็นว่า แค่กาแฟวันละ 1 แก้วจะสามารถสร้างความมั่งคั่งที่แตกต่างให้คุณได้อย่างไร ฟังแล้วน่าสนใจมั้ยคะ ตามนิมาเลยค่ะ

ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ติดกาแฟ สมมติว่าคุณเป็นคนดื่มกาแฟอย่างน้อยวันละ 1 แก้วและเป็นกาแฟแก้วละ 40 บาท คุณเคยลองคำนวณดูมั้ยคะว่า ถ้าคุณดื่มกาแฟวันละ 1 แก้วราคาแก้วละ 40 บาทเป็นเวลา 1 เดือน 1 ปีและ 10 ปีตามลำดับ จะเป็นเงินทั้งสิ้นเท่าไหร่ที่คุณจ่ายไปกับกาแฟแค่วันละ 1 แก้วคะ

แล้วคุณเคยลองคิดมั้ยคะว่า เพียงแค่ 40 บาทต่อวัน หรือประมาณ 1,200 บาทต่อเดือน ถ้าคุณนำเงิน 1,200 บาทนี้ไปลงทุนทุกเดือน ที่อัตราผลตอบแทน 10% ต่อปี ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นยังไง อยากรู้มั้ยคะ เฉลยตาม Mind Map ข้างล่างนี้เลยค่ะ

Slide1

ไม่น่าเชื่อเลยนะคะแค่ลงทุนเพียงวันละ 40 บาทที่การลงทุนที่ให้ผลตอบแทน 10% ต่อปีเป็นระยะเวลา 40 ปี จะสามารถทำให้คุณกลายเป็นเศรษฐีเงิน (เกือบ) สิบล้านบาทได้

แล้วถ้าเราลองประหยัดให้ได้วันละ 100 บาท (หรือเลิกกินกาแฟแก้วละร้อยซะ) หรือประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน เหมือนเดิมค่ะ นำเงิน 3,000 บาทนี้ไปลงทุนทุกเดือน ที่อัตราผลตอบแทน 10% ต่อปี ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นดังนี้ค่ะ

Slide2

คุณๆ ขาเป็นอย่างไรกันบ้างคะเมื่อได้เห็นคำตอบ ถึงกับตาค้างหรือตาลุกวาวกันเลยมั้ยคะ ไม่น่าเชื่อเลยนะคะว่าแค่คุณลงทุนเพียงวันละ 100 บาทที่การลงทุนที่ให้ผลตอบแทน 10% ต่อปีอย่างสม่ำเสมอเป็นเวลา 40 ปี จะทำให้คุณกลายเป็นเศรษฐีเงิน (เกือบ) 20 ล้านบาทเลยนะคะ ทีนี้เชื่อนิหรือยังคะว่าอิสรภาพทางการเงินไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อมจริงๆ ค่ะ

แล้วมาติดตามกันต่อนะคะว่าตอนหน้านิจะเอาเคล็ดลับสู่อิสรภาพทางการเงินอะไรมาฝากกันค่ะ

สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการวางแผนการเงินกับนิได้ที่ nipapuntalk@hotmail.com ค่ะ หรือ ที่ Official Line Account: @nipapuntalk (อย่าลืม เติม @ ไว้ข้างหน้า nipapuntalk ด้วยค่ะ) แล้วพบกันในตอนต่อไปค่ะ ^^

ใครฝันอยากมีอิสรภาพทางการเงินบ้าง ยกมือขึ้น

ก่อนที่เราจะมาว่ากันว่าอิสรภาพทางการเงินคืออะไร และถ้าอยากไปให้ถึงอิสรภาพทางการเงินนั้นต้องทำอย่างไร นิขอถามคุณๆ ก่อนว่า แล้วคุณคิดว่าการมีอิสรภาพทางการเงินเป็นเรื่องง่ายหรือยากแค่ไหนกันคะ

รูปภาพข้างล่างจะเป็น Mind Map ที่มีตัวเลือก 4 ข้อให้คุณเลือกเพื่อถามความเห็นหรือความรู้สึกหรือทัศนคติของคุณที่มีต่อคำว่า อิสรภาพทางการเงินคำตอบไม่มีถูก ไม่มีผิด แต่จะเป็นการทำให้คุณตระหนักว่า ณ ตอนนี้คุณยืนอยู่ที่จุดไหน ลองเลือกคำตอบดูนะคะ

Slide1

คุณผู้อ่านเลือกคำตอบอะไรกันบ้างคะ share ความเห็นกันได้นะคะ อย่างที่บอกค่ะ คำตอบไม่มีถูก ไม่มีผิดค่ะ แค่เป็นการเช็คทัศนคติของคุณที่มีต่ออิสรภาพทางการเงินเท่านั้นเองค่ะ เพราะความคิดหรือทัศนคติจะเป็นตัวกำหนดการกระทำ

ลองสำรวจตัวเราเองดูนะคะว่า เราคิดแบบไหน การกระทำที่ออกมาก็จะสอดคล้องกับความคิดของเราค่ะ ถ้าเราคิดว่ายากหรือเป็นไปไม่ได้ คุณก็อาจจะไม่มีใจที่จะทำให้ถึงเป้าหมายก็เป็นไปได้ แต่ถ้าเราคิดว่าง่ายหรือเป็นไปได้ คุณก็จะมีความมุ่งมั่นและทุ่มเทมากขึ้น ซึ่งความมุ่งมั่นทุ่มเทดังกล่าวนั่นแหละ ที่จะพาเราไปถึงเป้าหมายที่เราต้องการได้

ทีนี้เรามาดูกันต่อค่ะว่า แล้วเจ้า อิสรภาพทางการเงินแปลว่าอะไร

อิสรภาพทางการเงิน คือ ความสามารถในการชีวิตที่ปรารถนาโดยปราศจากข้อจำกัดทางการเงิน หรืออีกนัยหนึ่ง คือการที่เรามีรายได้จากสินทรัพย์ หรือ Passive Income มากกว่าค่าใช้จ่ายนั่นเองค่ะ

อิสรภาพทางการเงิน (2)

ดังนั้นเราก็ต้องมาเรียนรู้กันว่ารายได้จากสินทรัพย์คืออะไร

รายได้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

Active income คือ รายได้จากการทำงาน การประกอบอาชีพต่างๆ เช่น งานประจำ งานค้าขายของนอกเวลา รับจ้างงานนอก (Outsource) หรือการทำงานนอกเวลา (OT) เป็นต้น

Passive income คือ รายได้จากสินทรัพย์ หรือรายได้ที่ไม่ได้เกิดจากการใช้แรงของเราทำงาน แต่เป็นรายได้จากดอกผลของการลงทุนต่างๆ เช่น มีอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า ลงทุนในกองทุน ในหุ้น ในตลาดหลักทรัพย์ แล้วได้รับเงินปันผล หรือลงทุนในกิจการ แล้วกิจการจ่ายเงินปันผลออกมา เป็นต้น พูดง่ายๆ ก็คือ ใช้เงินทำงาน หรือ ใช้สินทรัพย์ทำงานนั่นเอง

เริ่มสนใจ Passive income หรือไอ้เจ้ารายได้จากสินทรัพย์กันแล้วใช่มั้ยคะ ทีนี้เราจะมีรายได้จากสินทรัพย์ได้อย่างไร คุณก็ต้องมีเงินเพื่อเอาไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ให้มันออกดอกออกผล เกิดเป็นรายได้จากสินทรัพย์ยังไงล่ะคะ แล้วทีนี้เราจะมีเงินเพื่อไปลงทุนได้อย่างไร ขั้นตอนแรกสุดเลย ที่จะทำให้คุณมีเงินเพื่อไปลงทุน ก็คือ คุณต้องมีเงินออม แล้วเจ้าเงินออมมาจากไหนกัน นิก็เลยจะแนะนำให้คุณๆ รู้จักกับสมการเงินออมกันก่อนค่ะ

รายได้ รายจ่าย = เงินออม

ออมอย่างไร? เมื่อไหร่?

จริงๆ แล้วการออมเงิน ควรเริ่มออมตั้งแต่คุณเริ่มมีรายได้ เอาง่ายๆ เริ่มต้นทำงานก็เริ่มออมกันเลยค่ะ ตั้งเป้าจะออมเงินให้ได้อย่างน้อย 10% ของรายได้ เริ่มออมตั้งแต่เดือนแรกที่ทำงาน เริ่มต้นสะสมให้เงินออมกลายเป็นเงินก้อน ถึงจะเริ่มลงทุนได้ ส่วนจะเริ่มลงทุนได้เมื่อไหร่ โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ

สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการวางแผนการเงินกับนิได้ที่ nipapuntalk@hotmail.com ค่ะ หรือ ที่ Official Line Account: @nipapuntalk (อย่าลืม เติม @ ไว้ข้างหน้า nipapuntalk ด้วยค่ะ) แล้วพบกันในตอนต่อไปค่ะ ^^

กฎ 72 สำคัญไฉน

กฎ 72

Albert Einstein กล่าวว่า สิ่งมหัศจรรย์อันดับ 8 ของโลก คือ พลังดอกเบี้ยทบต้น นอกจากนี้ Albert Einstein ยังเป็นผู้ค้นพบกฎของเลข 72 ซึ่งอ้างหลักการจากการคิดอัตราดอกเบี้ยทบต้น และได้กล่าวไว้ว่า นี่คือการค้นพบระบบคณิตศาสตร์ที่ยอดเยี่ยมที่สุด…” Albert Einstein is quoted as saying: “It is the greatest mathematical discovery of all time” วันนี้ นิก็เลยมีหลักการของกฎ 72 มาฝากกันค่ะ

กฎของ 72 คือ สูตรการคำนวณเบื้องต้นอย่างง่าย เป็นการคาดการณ์โดยประมาณว่า จะใช้ ระยะเวลาหรือ อัตราดอกเบี้ยเท่าไหร่ จึงจะทำให้ เงินลงทุนก้อนแรก นั้นโตเป็น 2 เท่าได้สามารถคำนวณได้ตามสูตร ดังนี้

Slide1

มีการประยุกต์ใช้ของกฎ 72 มาฝากด้วยค่ะ

Slide2

สังเกตว่า ยิ่งอัตราผลตอบแทน (%ต่อปี) มากขึ้น ยิ่งใช้เวลาทำให้เงินโตเป็น 2 เท่าสั้นลง ซึ่งการเพิ่มอัตราผลตอบแทน จะสามารถประหยัดเวลาได้อย่างมากในช่วงอัตราผลตอบแทนน้อย และจะประหยัดเวลาลดลงในระดับอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ จะเห็นว่า การลงทุนที่อัตราผลตอบแทน 1% และ 2% สามารถประหยัดเวลาที่เงินลงทุนเพิ่มค่าเป็น 2 เท่า ได้สูงสุดถึง 36 ปี และการประหยัดเวลาที่มีหน่วยเป็น จำนวนปี นั้นจะลดลงไปเรื่อยๆ

  ดังนั้น ในช่วงแรก อย่าละเลยการลงทุนที่อาจมีอัตราผลตอบแทนไม่สูงไม่น่าจูงใจ  เช่น ระหว่างการฝากออมทรัพย์และฝากประจำ หลายคนคิดว่าดอกเบี้ยที่ต่างกันเพียง 1% ไม่น่าจะมีนัยสำคัญอะไร แต่จากรูปจะเห็นได้เลยว่าเพียงผลตอบแทน 1% ที่แตกต่าง ก็สามารถย่นระยะการเพิ่มมูลค่าเงินลงทุนเป็น 2 เท่าได้ไม่น้อยเลยนะคะ  ระหว่างนั้นก็ทำการศึกษาข้อมูลเพิ่ม พัฒนาตัวเอง และสะสมประสบการณ์ เพื่อก้าวต่อไปในการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูงขึ้น (และตามมาด้วยความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วย)

นอกจากนี้กฎ 72 ยังนำไปประยุกต์ใช้ในเรื่องอื่นๆ เช่นผลของเงินเฟ้อทำให้เงินของคุณลดค่าลงครึ่งนึงภายในกี่ปี และการเป็นหนี้อีกเท่าตัวภายในกี่ปี ถ้าไม่ชำระคืนนหนี้นอกระบบตามเวลาที่กำหนด

Slide3

ดังนั้นอย่าลืมพิจารณาผลของเงินเฟ้อ และอย่าเผลอเป็นลูกหนี้เงินกู้นอกระบบและไม่ชำระเงินคืนตามเวลา ตามเงื่อนไขเข้าเชียวนะคร้า เพราะหนี้จะพอกพูนอย่างไวมากจนเราไม่รู้ตัวเลยละค่ะ

ทิ้งท้ายกฎของเลข 72″ เป็น สูตรการคำนวณอย่างง่ายโดยค่าประมาณ เพื่อใช้คิดว่าอัตราผลตอบแทนหรือระยะเวลาเบื้องต้น ดังนั้น การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรพิจารณาและศึกษาการลงทุนให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุนค่ะ

สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการวางแผนการเงินกับนิได้ที่ nipapuntalk@hotmail.com ค่ะ หรือ ที่ Official Line Account: @nipapuntalk (อย่าลืม เติม @ ไว้ข้างหน้า nipapuntalk ด้วยค่ะ) แล้วพบกันในตอนต่อไปค่ะ ^^

อยากรู้มั้ย เศรษฐีเขาลงทุนในอะไรกัน

ในตอนนี้นิมีสรุปงานวิจัยเกี่ยวกับผู้มีความมั่งคั่งสูงในโลก ซึ่งรายงานเอาไว้ใน World Wealth Report 2015 มาฝากกันค่ะ

ณ สิ้นปี 2014 ผู้มีความมั่งคั่งสูงซึ่งหมายถึงผู้มีสินทรัพย์เกินกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 35 ล้านบาท) ขึ้นไป ในโลกนี้ มีจำนวน 14.65 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2013 ประมาณ 6.7% แบ่งเป็นผู้มีความมั่งคั่ง 1-5 ล้านเหรียญ 13.19 ล้านคน มีความมั่งคั่ง 5-30 ล้านเหรียญ 1.33 ล้านคน และมีความมั่งคั่งมากกว่า 30 ล้านเหรียญ 139,000 คน

เมื่อแบ่งตามภูมิภาคที่อาศัย พบว่า เอเชียแปซิฟิกมีจำนวนมหาเศรษฐีแซงนำ ทวีปอเมริกาเหนือไปเล็กน้อย คือมีจำนวนผู้มีความมั่งคั่งสูงอยู่ที่ 4.69 ล้านคน ในขณะที่อเมริกาเหนือมี 4.68 ล้านคน

ความมั่งคั่งของคนกลุ่มนี้ทั่วโลก รวมกันเท่ากับ 56.4 ล้านล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นจากปี 2014 ประมาณ 7.2% ซึ่งนับเป็นอัตราการเพิ่มที่ไม่สูง เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ เหตุผลน่าจะเป็นผลจากการที่อัตราดอกเบี้ยในโลกต่ำเตี้ยติดดิน แม้ตลาดหุ้นจะพอให้ผลตอบแทนบ้าง แต่ตลาดหุ้นโลกในปีที่แล้วก็ไม่ได้ผลตอนแทนมากเท่าปีก่อนหน้า

ในด้านสัดส่วนของการลงทุนนั้น พบว่าการจัดสรรการลงทุนในปี 2015 ประกอบด้วย

เงินสด/เงินฝากและการลงทุนในตลาดเงิน 25.6%

ตราสารหนี้ (รวมพันธบัตร) 16.9%

หุ้นทุน 26.8%

อสังหาริมทรัพย์ 17.6%

และการลงทุนทางเลือก 13%

เศรษฐีลงทุนในอะไร_rev

จะเห็นว่าผู้มีความมั่งคั่งสูงถือครอง เงินสด/เงินฝากและการลงทุนในตลาดเงิน สูงถึง 25.6% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าระดับ 15% ที่เป็นระดับที่ ที่ปรึกษาหรือผู้จัดการความมั่งคั่งส่วนใหญ่แนะนำ เหตุผลน่าจะเป็นเพราะว่า ในสภาวะที่ทุกอย่างมีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง สำหรับผู้มีความมั่งคั่งสูงแล้ว เขาไม่ต้องการที่จะเสี่ยงมาก เพราะกว่าจะสะสมความมั่งคั่งมาถึงระดับนี้ ย่อมใช้เวลา และเมื่อมีถึงระดับนี้แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเสี่ยงมากมายเพื่อให้ทรัพย์สินโตขึ้นไปอย่างรวดเร็ว เพราะอย่างไรก็เหลือกินเหลือใช้ เกินพอแล้ว

นอกจากนี้อาจจะเป็นการถือครองสภาพคล่องเพื่อเตรียมรอโอกาสการลงทุนที่เหมาะสมอีกด้วยค่ะ เพราะถ้ามีเงิน หากอยากทำอะไรที่อยากทำหรืออยากลงทุนก็สามารถจัดการได้ทันที

ได้ทราบข้อมูลการลงทุนของผู้มีความมั่งคั่งสูงอย่างนี้แล้ว ท่านผู้อ่านอาจจะเห็นแนวทางในการจัดพอร์ตการลงทุนของตัวท่านเองบ้างไม่มากก็น้อยนะคะ

สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการวางแผนการเงินกับนิได้ที่ nipapuntalk@hotmail.com ค่ะ หรือ ที่ Official Line Account: @nipapuntalk (อย่าลืม เติม @ ไว้ข้างหน้า nipapuntalk ด้วยค่ะ) แล้วพบกันในตอนต่อไปค่ะ ^^

แบบจำลองการสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืน

Slide3

ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นเสรษฐี หรือ Millionaire หรือ High Net Worth Individual (HNWI) นั้น คือผู้ที่มีความมั่งคั่งสุทธิ หรือ Net Worth ตั้งแต่ 1 ล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไป

จากคำนิยาม เราจะเห็นว่า เราวัดว่าใครเป็นเศรษฐีจากความมั่งคั่งสุทธิของเขา หาได้วัดจากรายได้แต่อย่างใดค่ะ แล้วเจ้า ความมั่งคั่งสุทธิหรือ ‘Net Worth’  นั้นคืออะไร เราสามารถคำนวณหาความมั่งคั่งสุทธิได้จากสมการนี้ค่ะ

สินทรัพย์ (Assets) – หนี้สิน (Liabilities) =  ความมั่งคั่งสุทธิ (Net Worth)

ดังนั้น จากสมการข้างต้น หากคุณต้องการมีความมั่งคั่งสุทธิเยอะๆ คุณต้องมีสินทรัพย์เยอะๆ และมีหนี้สินน้อยๆ หรือไม่หากมีหนี้สิน หนี้สินดังกล่าวต้องเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ หรือหนี้ดีนั่นเองค่ะ คำถามถัดมาแล้วเราจะสร้างสินทรัพย์ได้อย่างไร

จากสมการเงินออม: รายได้ ค่าใช้จ่าย = เงินออม

แปลว่าคุณต้องมีเงินออมเหลือ เพื่อที่คุณจะสามารถนำเงินออมไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ให้งอกเงยออกดอกออกผลนั่นเองค่ะ

การที่จะทำให้มีเงินออมมากๆ สามารถทำได้โดย 1. เพิ่มรายได้ 2.ลดค่าใช้จ่าย และ 3. ทำให้เงินออมงอกเงยโดยการแสวงหาการลงทุนที่เหมาะสมนั่นเองค่ะ (ซึ่งการลงทุนที่เหมาะสมก็จะทำให้ไปเพิ่มสินทรัพย์ และทำให้ความมั่งคั่งสุทธิสูงขึ้น ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น)

โดยสรุปแบบจำลองการสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนจึงประกอบไปด้วย

1. การมีความสามารถในการใช้ Human Asset ในการสร้างรายได้

2. การมีความสามารถในการออม

3. การมีความสามารถในการควบคุมค่าใช้จ่าย

4. การมีรายได้คงเหลือมากหลังหักค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต (แปลว่ามีเงินออมเหลือมาก)

5. การมีความสามารถในการลงทุนและสร้างรายได้จากการลงทุนได้

6. การมีความมั่งคั่งสุทธิเป็นบวกมากๆ

วันนี้นิมาบอกเคล็ดลับของการเป็นเศรษฐีให้แล้วนะคะ ที่เหลือก็แล้วแต่ว่าแต่ละท่านจะมีการลงมือทำอย่างไร สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการวางแผนการเงินกับนิได้ที่ nipapuntalk@hotmail.com ค่ะ หรือ ที่ Official Line Account: @nipapuntalk (อย่าลืม เติม @ ไว้ข้างหน้า nipapuntalk ด้วยค่ะ) แล้วพบกันในตอนต่อไปค่ะ ^^