คุณรู้หรือไม่หลังเกษียณเรามีรายได้จากแหล่งใดบ้าง???

หลังจากที่เราคุยกันเรื่องการวางแผนเกษียณอายุกันมาหลายตอน อยากรู้มั้ยคะว่าแหล่งรายได้เพื่อการเกษียณอายุมีอะไรบ้าง

ทำไมเรื่องนี้จึงสำคัญ เพราะคุณจะได้กลับไปรวบรวมรายละเอียดแหล่งรายได้เพื่อการเกษียณอายุที่คุณมีอยู่ นำมาคำนวณประกอบการวางแผนเกษียณอายุ และจะได้รู้ว่าเพื่อการเกษียณอายุอย่างมั่งคั่งนั้น คุณจะต้องเตรียมเงินอีกเท่าไหร่นั่นเองค่ะ

เรามาดูกันเลยดีกว่าค่ะว่า แหล่งรายได้เพื่อการเกษียณอายุนั้นมาจากแหล่งไหนได้บ้าง

แหล่งรายได้เพื่อการเกษียณอายุ

กองทุนประกันสังคม

กองทุนประกันสังคมเป็นหนึ่งในการออมแบบภาคบังคับค่ะ เพราะรัฐบาลบังคับให้นายจ้างและลูกจ้างต้องส่งเงินเข้าประกันสังคม ซึ่งส่วนหนึ่งของเงินที่เราส่งเข้าประกันสังคมจะกลายมาเป็นแหล่งเงินเพื่อการเกษียณอายุของคุณได้ค่ะ ถ้าหากเราจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนมา 15 ปี พออายุ 55 ปี ก็จะได้รับเงินบำนาญชราภาพ ประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน คิดจากเพดานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาทตามข้อกำหนดของกองทุน และถ้าจ่ายสมทบเกินกว่า 15 ปี ก็จะได้โบนัสอีกปีละ 1.5% สมมติเราจ่ายสมทบมา 30 ปีก่อนเกษียณอายุ จะได้โบนัส 15 ปีหรืออีก 3,375 บาท รวมเป็น 6,375 บาทต่อเดือน ซึ่งยังไม่ได้ปรับด้วยเงินเฟ้อ หากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมของประกันสังคมสามารถเข้าไปที่ http://www.sso.go.th ค่ะ

กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

กรณีเป็นข้าราชการที่เป็นสมาชิกกองทุน จะได้รับเงินบำนาญ = (เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย x อายุราชการ)/ 50 แต่ต้องไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย หรืออาจเป็นเงินบำเหน็จ = เงินเดือนเดือนสุดท้าย x อายุราชการ ตามเงื่อนไขของทางราชการค่ะ หากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการสามารถเข้าไปที่ https://www.gpf.or.th ค่ะ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นหนึ่งในการออมภาคสมัครใจที่ลูกจ้างและนายจ้างสมัครใจร่วมกันสมทบเข้ากองทุน ถ้าคุณเริ่มทำงานและสะสมเงินเข้ากองทุนนี้ ตั้งแต่อายุ 25 ปี โดยสะสมที่ 3% ของเงินเดือน และสมมติว่าเงินเดือนอยู่ที่เดือนละ 20,000 บาท ถ้าอัตราการเพิ่มของเงินเดือนเพิ่มขึ้นปีละ 5% นายจ้างสมทบให้ 3% และกองทุนได้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 4% ต่อปี เมื่อคุณอายุ 60 ปี คุณจะมีเงินประมาณ 1.2 ล้านบาทจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพค่ะ นี่เป็นตัวอย่างคร่าวๆ ของการคำนวณเม็ดเงินที่ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งในแต่ละบริษัทหรือนายจ้างที่คุณทำงานอยู่ด้วยนั้นก็อาจจะมีกฎเกณฑ์ของเงินสะสม (ซึ่งเป็นส่วนของพนักงาน) และเงินสมทบ (ซึ่งเป็นส่วนของนายจ้าง) ที่แตกต่างกันออกไปในรายละเอียด รวมถึงนโยบายที่จะนำเงินที่สะสมและสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น ไปลงทุนให้ออกดอกออกผล งอกเงยได้อย่างไร ซึ่งคุณต้องกลับไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทของคุณด้วยนะคะ นอกจากนี้หากอยากศึกษาความเป็นมา ความเป็นไปของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในประเทศไทยเพิ่มเติม สามารถเข้าไปได้ที่ http://www.thaipvd.com ค่ะ

แต่ถึงแม้ว่า เราจะมีเงินได้จากกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ หรือเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเงินจาก กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการแล้วก็ตาม หากพิจารณาตัวเลขอย่างรอบคอบและปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เราก็จะพบว่าเงินที่คาดหวังว่าจะได้เหล่านั้น น่าจะยังไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นหลังเกษียณอายุ หากเราต้องการรักษามาตรฐานการใช้ชีวิตไว้ในระดับเดิม ดังนั้นเราจึงควรวางแผนการลงทุนและทำประกันชีวิตระยะยาวเพิ่มเติม เพื่อเป็นแหล่งเงินได้สำหรับการใช้จ่ายในวัยเกษียณด้วย ซึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ ได้แก่

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “RMF” ซึ่งจะช่วยสร้างวินัยในการลงทุนให้เราได้ เพราะเป็นการลงทุนระยะยาวที่ต้องลงทุนอย่างต่อเนื่อง และเรายังได้รับประโยชน์ทางภาษีในช่วงที่ลงทุนอีกด้วย ปัจจุบันมีกองทุนรวม RMF มากมาย ให้เราเลือกได้ตามนโยบายการลงทุนที่ต้องการ คุณสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมในการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพได้ที่ http://www.sec.or.th/infocenter/report/Content_0000000744.jsp?…lang  และ www.thaimutualfund.com ค่ะ

การทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์และหรือการทำประกันชีวิตแบบบำนาญ แม้ว่าผลตอบแทนที่แท้จริงจากการทำประกันชีวิตจะไม่มากมายนักแต่การทำประกันชีวิตแบบระยะยาว มีข้อดีก็คือ สร้างวินัยทางการเงินให้เราได้ มีให้เลือกหลายแบบ มีวงเงินคุ้มครองกรณีเสียชีวิต และยังได้สิทธิประโยชน์ในทางภาษีอีกด้วย

เดี๋ยวนิจะค่อยๆ มาเล่าให้ฟังว่าสินค้าทางการเงินแต่ละแบบ ข้อดี ข้อเสีย มีความเสี่ยงและผลตอบแทนอย่างไร รวมไปถึงเทคนิคในการเลือกซื้อสินค้าทางการเงินแต่ละแบบว่าควรพิจารณาอย่างไรด้วยค่ะ ต้องติดตามค่ะ ^^

สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการวางแผนการเงินกับนิได้ที่ nipapuntalk@hotmail.com ค่ะ หรือ ที่ Official Line Account: @nipapuntalk (อย่าลืม เติม @ ไว้ข้างหน้า nipapuntalk ด้วยค่ะ) แล้วพบกันในตอนต่อไปค่ะ และหากคิดว่าเป็นประโยชน์ช่วยแชร์ด้วยนะคร้า ขอบคุณมากค่ะ ^^

ใส่ความเห็น